วันที่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 11:50 น.
แพทย์ชี้อาการไขกระดูกบกพร่องเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่จะกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเลิดสิน เผยกลุ่มอาการไขกระดูกบกพร่อง หรือ MDS เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดออกมาได้ ส่วนใหญ่พบในคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และพบได้น้อยมากในคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เมื่อร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ โลหิตจางทำให้มีอาการซีด เม็ดเลือดขาวทำให้ร่างกายภูมิคุ้มกันลดลง เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการไขกระดูกบกพร่อง ส่วนหนึ่งเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อีกส่วนหนึ่งเกิดหลังจากผู้ป่วยเคยได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีมาก่อนในอดีต หรือได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น เบนซีน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรคไขกระดูกบกพร่องนี้ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมจึงไม่ติดต่อสู่คนในครอบครัว การดำเนินโรคกรณีที่โรคเป็นไม่รุนแรง จะมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ได้เกิน 6 ปี มักเริ่มจากสร้างเม็ดเลือดตั้งแต่ 1-3 ชนิดได้น้อยลงจนมีอาการโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำ หลังจากนั้นประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีการพัฒนาของโรคกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นชนิดรุนแรง และมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ประมาน 5 เดือน
นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาในกรณีที่โรคเป็นไม่รุนแรงและไม่ได้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะให้การรักษาโดยให้เลือด เกล็ดเลือด และยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดแดงขึ้นกับชนิดของเม็ดเลือดผู้ป่วยที่ต่ำ ซึ่งเป็นการรักษาแบบประคับประคอง แต่ในกรณีที่โรคเป็นรุนแรงหรือเริ่มกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน การรักษาคือการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งสามารถทำให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม จะสามารถทำได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ อาจให้ยากลุ่มเคมีบำบัดแบบฉีดบางชนิดร่วมกับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้เม็ดเลือดกลับมาใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
รู้จักกับโรคไขกระดูกบกพร่อง
โรคไขกระดูกบกพร่อง หรือไขกระดูกเสื่อม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Myelodysplastic syndrome (MDS) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเซลล์เม็ดเลือดแดง จนไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่สมบูรณ์ได้เหมือนคนปกติ
สาเหตุที่แท้จริงจากโรคไขกระดูกบกพร่องนี้ ปัจจุบันทราบแค่ว่าเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) บริเวณไขกระดูก ผลิตเซลล์เม็ดเลือดออกมาผิดปกติ สาเหตุอาจมาได้จาก
- เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมในร่างกายของผู้ป่วยเอง
- จากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเซลล์ต้นกำเนิด เช่น ได้รับสารเคมี หรือ รังสีบำบัด
- รูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือได้รับไวรัสบางชนิด
อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไขกระดูกบกพร่อง มักพบอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เพราะเป็นผลมาจากเม็ดเลือดแดงต่ำ มีออกซิเจนไม่เพียงพอให้ร่างกาย ตามมาด้วยอาการเป็นไข้จากการติดเชื้อ เพราะเม็ดเลือดขาวน้อย โดยอาการของผู้ป่วยจะหนักขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดในร่างกาย
โรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูกอื่นๆ เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ รวมถึงโรคมะเร็งในระยะที่กระจายเข้ากระดูกแล้วก็จะตรวจพบความผิดปกติของเม็ดเลือด แต่การระบุโรคไขกระดูกบกพร่องนั้นต้องตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ เพื่อวัดค่าและใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูความผิดปกติของเม็ดเลือด ดังนี้
- ตรวจพบเม็ดเลือดแดงต่ำ
- ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดที่มีลักษณะผิดปกติมากกว่า 10%
- ระดับความเข้มข้นเม็ดเลือดแดงฮีโมโกลบินน้อยกว่า 10 g/dL
- ระดับเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลน้อยกว่า 1.8×109/L
- ระดับเกล็ดเลือดน้อยกว่า 100×109/L
วิธีป้องกันการเป็นโรคไขกระดูกบกพร่อง หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้สารเคมี หรือสารกัมมันตรังสีอันเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ต้นกำเนิดในระดับยีน และควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย