อพท.ดัน 20 เส้นทางขายแพ็คเกจ “กำลังใจ” หวังจูงใจบริษัทท่องเที่ยว เลือกกิจกรรมชุมชนลงโปรแกรม นำร่องขายต่ออนาคต ยันเดินหน้าตามแผนเดิม แม้เจอโควิด-19 เตรียมดันพื้นที่พิเศษเข้าท็อป 100 พร้อมส่ง “น่าน-สุพรรณ” เข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก เผยของบเงินกู้ 1.2 พันล้านพัฒนาชุมชนต่อ
ดันท่องเที่ยวชุมชนขายแพ็คเกจ “กำลังใจ”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า หลังจากความเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มท่องเที่ยวปรับขนาดเล็กลงเพื่อลดความเสี่ยง อพท.จึงเตรียมผสมหลักการตลาดและการพัฒนาชุมชนร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดท่องเที่ยวจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทางดันขายกิจกรรมเข้าแพ็คเกจ “กำลังใจ”
โดย อพท.จะหารือกับ ททท.เพื่อผลักดัน “กิจกรรมการท่องเที่ยว” ใน 20 เส้นทางการท่องเที่ยวถึงความเป็นไปได้ในการเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจ “กำลังใจ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและให้กำลังใจกับแนวหน้าสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม อสม. พร้อมทั้งจะร่วมกับภาคีส่งบุคลากรจากสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ลงสู่พื้นที่ 40 ชุมชนที่มีความพร้อม โดยเน้นเสนอขายการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัยและกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
“อพท.หวังว่าโครงการจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนและได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มีรายได้เสริม นอกจากนั้น ยังหวังว่าถ้าโครงการนำร่องได้ผลตอบรับดี ในปีต่อๆ ไป อพท. ก็จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมา”
ยังเดินหน้าตามแผนเดิม
นายทวีพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อพท.จะยังคงเดินหน้าแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ตามแผนขับเคลื่อน อพท.ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562–2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งในปี 2563 จะดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) 3 ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี และ 4.การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา
โดยพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลาจะเน้นศึกษาร่องรอยอารธรรมความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัยร่วมกับ 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับอำเภอต่างๆที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และจะมีการจัดตั้งสำนักงาน อพท. เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา อพท. ยังไม่มีสำนักงานให้บริการในพื้นที่ภาคใต้และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณ 2564
ดันแหล่งท่องเที่ยวขึ้น TOP 100-เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่ TOP 100 นั้นเพื่อเป็นการรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว สำหรับปี 2563 อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าวในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง
นอกจากนั้น ยังเตรียมดัน “พื้นที่จังหวัดน่าน” และ “พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี” เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านและเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก้ โดยเตรียมเสนอต่อยูเนสโก้ในปีงบประมาณ 2564 และเตรียมเสนอ “พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี” และ “พื้นที่จังหวัดเชียงราย” เข้าเป็นเครือข่ายเมืองแห่งอาหารถิ่น (Gastronomy) และเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัยในปี 2566
พร้อมดันเชียงรายเข้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark เป้าหมายสูงสุดคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลกตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ภายในปี 2568 โดยขั้นตอนการศึกษาทั้งหมดจะดำเนินการร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ อพท. ให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามลำดับ
ด้านการเสนอโครงการภายใต้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท อพท.ได้เสนอโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนหลายโครงการ วงเงิน 1,400 ล้านบาท อยู่ในกลุ่มที่เป็นโครงการประเภทการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 1,200 ล้านบาท เน้นการพัฒนาชุมชนและศักยภาพของคนทางด้านท่องเที่ยว แบ่งเป็นกลุ่มซ่อมสร้าง 800 ล้านบาทและกลุ่มพัฒนาศักยภาพ 400 ล้านบาท นอกจากนั้น อีกกลุ่มเป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน 200 ล้านบาท