วันอาทิตย์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
แม้จะมีเหตุระทึกกับกรณีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วออกไปนอกที่พัก แต่โดยรวมแล้วสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ทางการไทยยังสามารถรับมือได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ “มรสุมเศรษฐกิจ” ดังที่ผู้แทนภาคธุรกิจอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้บอกเล่าไว้ในงานสัมมนาประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ณ รร.ใบหยกสกาย กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็แลกมาด้วยการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ หลายบริษัทต้องปิดตัวลง มีการเลิกจ้างพนักงาน รวมถึงเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และแม้รัฐจะให้กิจการต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดได้ตามลำดับหลังถูกสั่งปิดเพื่อควบคุมโรคระบาด จนปัจจุบันสามารถเปิดได้ทุกกิจการแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ง่ายๆ
“ประเทศไทยอาศัยการส่งออกถึง 55% อาศัยเรื่องของนักท่องเที่ยวถึง 12% และอาศัยการท่องเที่ยวในประเทศถึง 8%สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราก็จะมองเห็นว่าในอนาคตอันใกล้จากเดี๋ยวนี้ไปอีก 4-5 เดือน สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นแน่ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มีทางสามารถเข้ามาได้แน่ การส่งออกก็ไม่มีทางสามารถเหมือนเดิมได้แน่นอนมีการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจมีการถดถอย GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) ประเทศจะลดลง แต่ละสำนักซึ่งบอกไม่เท่ากัน อย่าง IMF(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) บอกประเทศไทยจะติดลบ 7.7
ธนาคารโลก (World Bank) บอกจะติดลบ 5 ธนาคารเพื่อการส่งออก ลบ 6.5 แล้วก็ สศช. (สภาพัฒน์) ลบ 6 ถึงลบ 5 และธนาคารแห่งประเทศไทย ลบ 8.1 กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) บอกติดลบ 5 ถึงลบ 3 นี่เป็นมุมมองแต่ละสำนัก แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการเริ่มต้น ตัวเลขเหล่านี้เป็นเดือน มิ.ย. 2563 จะถามว่าต่อไปจะรุนแรงกว่านี้หรือไม่ ผมฟันธงต่อไปจะเลวร้ายกว่านี้” รองประธาน สอท. กล่าว
สุชาติ ยกตัวอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยอย่าง “ยานยนต์” ที่พบว่า “ยอดผลิตในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 2563 ลดลงร้อยละ 40.18” ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทที่ผลิตอะไหล่ต่างๆ เพื่อป้อนเข้าสายการผลิตรถยนต์ด้วย เช่นเดียวกับ “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” ที่มีโรงงานกว่า 2 พันแห่ง ร้านค้าทั้งปลีก-ส่งราว 2-3 หมื่นร้าน คนงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 2-3 แสนคน มูลค่าทางธุรกิจ 4 แสนล้านบาทต่อปี ขณะนี้ลดลงไปร้อยละ 55 และอาจลดลงไปถึงร้อยละ 70
ทั้งนี้ “เศรษฐกิจไทยร้อยละ 43 และแรงงานไทย 12ล้านคน อยู่ในสถานประกอบการที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม(SME)” อนึ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกำลังแรงงานประมาณ 38 ล้านคน และมีผู้ว่างงานประมาณ 3 แสนคน ซึ่งถือว่าน้อยมากและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทุกอย่างอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) บอกว่าวิกฤติครั้งนี้จะกระทบลูกจ้างประมาณ 68% ของประเทศไทย กระทบนายจ้าง 81% กระทบแรงงานอิสระประมาณ 66% ทำไมกระทบลูกจ้าง 68% นายจ้าง 81% เพราะนายจ้างมีมาก เพราะมี SME ตั้ง 3 ล้านราย ในขณะที่ไม่ใช่ SME มีน้อยกว่า แต่จำนวนลูกจ้างมันรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีการคาดการณ์กันว่าผู้ที่จะถูกสุ่มเสี่ยงว่าจะต้องตกงานประมาณ 8 ล้านกว่าคน ยังไม่ตกงานนะแค่สุ่มเสี่ยง แต่ที่คาดการณ์ว่าจะต้องตกงานจริงๆ ผมว่าไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน” สุชาติ กล่าว
รองประธาน สอท. ยังกล่าวถึง “ข้อจำกัดของการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน กรณีสถานการณ์โควิด-19” เนื่องจากมีระเบียบกำหนดว่า “ต้องถูกให้หยุดงานเต็มเดือนจึงใช้สิทธิ์ได้” ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สถานประกอบการมีงานให้ทำ 15 วันและหยุดงาน 15 วัน ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิ์นี้เพียงร้อยละ 5.6 เท่านั้น นอกจากนี้ยังเสนอแนะว่า ควรขยายสิทธิดังกล่าวจากเดือน ส.ค. 2563 ไปถึงสิ้นปี 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการยังประคับประคองการจ้างงานต่อไปได้
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่เสนอเพื่อบรรเทาวิกฤติในช่วงนี้ ประกอบด้วย 1.อนุญาตให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง โดยค่าจ้างเฉลี่ย 40-41 บาท/ชม. ทำงานเฉลี่ย 4-8 ชม. ต่อวัน 2.ปรับอัตราเงินสมทบกองทุนทดแทนลง โดยลดลงเหลือร้อยละ 0.01 3.จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน 4.ลดสัดส่วนการจ่ายเงินประกันสังคม ปัจจุบันทางประกันสังคมเสนอให้นายจ้าง-ลูกจ้างจ่ายฝ่ายละร้อยละ 2 ของค่าจ้าง อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ