18 กรกฎาคม 2563
| โดย นันทิดา พวงทอง
116
“เจโทร” ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัทเมดิเอเตอร์ หรือผู้ให้บริการด้านการปรึกษาระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น ร่วมจัดงานเฟ้นหาความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทย ในการเปิดให้นำเสนอไอเดียทางธุรกิจ (Pitch Session) หวังรุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุคนี้เป็นยุคของสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพรายใดจะไปได้สวยต้องอยู่ที่ไอเดียทางธุรกิจ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัทเมดิเอเตอร์ จัดงาน “Japan-Thai Open Innovation DX Platform Webinar” เพื่อเชื่อมความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่น หวังรุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กันตธรณ์ วรรณวสุ ซีอีโอบริษัทเมดิเอเตอร์ ในฐานะผู้ให้บริการด้านการปรึกษาระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า สตาร์ทอัพเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็ม ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สร้างความแตกต่างและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีให้กับธุรกิจเดิมที่แบ่งเป็นธุรกิจภาครัฐ บริษัททุนขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจด้านการเกษตร
เวทีนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่บริษัทญี่ปุ่นได้ร่วมเฟ้นหาความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทย ในการเปิดให้นำเสนอไอเดียทางธุรกิจ (Pitch Session) โดยเชื่อว่าสตาร์ทอัพไทยต่างมีความสามารถและไม่ควรถูกมองข้าม เพราะเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมุมมองของคนไทย ซึ่งรู้ถึงปัญหาแท้จริงและหาทางแก้ไขได้ตรงจุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายที่สุด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน โดยสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจผลักดันให้ประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็ว
“ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและเปิดโอกาสให้กับสตาร์อัพทั่วโลก โดยเฉพาะต้องการจับมือกับสตาร์ทอัพไทย เพื่อรุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กันตธรณ์ระบุ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (NSC) เพื่อรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในแคมเปญที่ชื่อว่า “วิสาหกิจเริ่มต้น จะเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior : NEW) และประเทศไทยจะเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเติบโตของอาเซียน” โดยมีกรอบของแพลตฟอร์ม ได้แก่
1.การสร้าง Talent และดึงดูด Talent จากทั่วโลก
2.ปรับกฎหมายและสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพเติบโต และ
3.สนับสนุนการลงทุนสตาร์ทอัพ และสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสตาร์ทอัพ
มีสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชนไทยคิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งประเทศ และให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนราว 78%
โดยการระดมทุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ 434 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นอยู่ราว 1,700 ราย นอกจากนี้ในปีที่แล้วประเทศไทยยังได้จัดตั้ง InnoSpace Thailand จากหน่วยงานกว่า 30 หน่วยงาน คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท เพื่อช่วยขับเคลื่อนสตาร์ทอัพให้สามารถแข่งขันเชิงธุรกิจในต่างประเทศ
สำหรับสตาร์ทอัพ 3 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ Pitch Session ครั้งนี้ ได้แก่ 1.FACTORIUM หรือ SYSTEM STONE เป็นสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผู้พัฒนาซ่อมแซมบำรุงผ่านมือถือให้แก่วิศวกรซ่อมบำรุงกว่า 2,300 โรงงานในประเทศไทย
2.CLAM DI สตาร์ทอัพด้านประกันภัยเทคโนโลยี ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเคลมประกันภัยรถยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับรถสามารถเคลมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอประกัน โดยปัจจุบันได้ร่วมกับเครือข่ายบริษัทประกันภัยชั้นนำของประเทศ โรงพยาบาล และสถานีตำรวจกว่า 1,482 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งยังเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์
และ 3.JUICEINNOV8 สตาร์ทอัพด้านฟู้ดไบโอเทค ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มคำนวณลดปริมาณน้ำตาลและแคลอรีสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำผลไม้ ซึ่งกำลังเตรียมเปิดตัวสินค้าในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม สตาร์ทอัพเหล่านี้จะได้ทำงานร่วมกับบริษัทเพื่อบุกตลาดในประเทศและต่างประเทศต่อไป