วิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้องค์กรต่างต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เซ็น กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารก็ได้รับผลกระทบทางยอดขายไม่ต่างกัน โดยไตรมาสแรกขาดทุน 44 ล้านบาท งานนี้จึงต้องผ่าพอร์ตโฟลิโอธุรกิจอาหาร 13 แบรนด์และจัดทัพผู้บริหารเพื่อโฟกัสธุรกิจที่ใช่และปลุกปั้นรายได้ให้ฟื้นภายในปีหน้า
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN
ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร เปิดเผยว่า นโยบายของกลุ่ม เซ็น กรุ๊ป เดินหน้าปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 บริษัทจะปรับพอร์ตโฟลิโอจากการมีแบรนด์อาหารมี 13 แบรนด์จะโฟกัสแบรนด์ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีด้วยกัน 7 แบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- Zen ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุุ่น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัว และเป็นเชนร้านอาหารที่ได้รับ และมีความได้เปรียบด้านของแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ หลังจากมีกระแสข่าวปลาแซลมอนที่ ประเทศจีน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบัน Zen เป็นแบรนด์เรือธงสร้างรายได้เกือบ 50%
- AKA ร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง เป็นแบรนด์ที่การตอบรับดี มีกลุ่มเป้าหมายคนวัยรุ่นและเมนูตอบโจทย์ ตอนนี้ยอดขายสร้างรายได้เกือบ 50%
- On the Table ร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่น สำหรับแบรนด์ดังกล่าวต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะเดิมทีมีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ แต่การแพร่ระบาด Covid-19 ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง จึงต้องปรับเมนูสำหรับคนไทยมากขึ้น ถือว่าเป็นแบรนด์ที่ผลักดันยอดขายได้ดี มีสัดส่วนรายได้ 25%
- ตำมั่ว ร้านอาหารสไตล์อีสาน มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 100% จากช่องทางเดลิเวอรี่
- เขียง ร้านอาหารไทย มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 100% จากช่องทางเดลิเวอรี่ โดยช่วงครึ่งปีแรกเปิดเขียง 30 สาขา เขียงจะเปิดครบ 100 สาขาภายในปีันี้ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังจะเปิดกว่า 30 สาขา
- Din’s ร้านอาหารจีนผสมญี่ปุ่น
- ลาว ญวณ ร้านอาหารสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก ตอนนี้มีแฟรนไชส์เยอะ
จัดทัพบริหารพอร์ตฯ อาหารใหม่
การบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโออาหารในเครือ 13 แบนด์ สำหรับแบรนด์อื่นๆ จะชะลอการทำตลาด ได้แก่ ฟู เฟเวอร์ ,เทสสึ แจ่วฮ้อน , Sushi Cyu และ เฝอ ลง โดยทั้งหมด 13 แบรนด์มีสาขาทั้งสิ้น 154 สาขา และเปิดบริการ 148 สาขา มีแฟนสไชส์ 171 สาขา
- แบ่งทีมบริหารพอร์ตสินค้าใหม่ บริษัทจะแบ่งแยกการบริหารร้านอาหารด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ ร้านอาหารสไตล์อาหารไทย กับอาหารต่างประเทศ ภายใต่้ chief customer officer (CCO) 2 ท่าน เพื่อให้เป็นผู้บริหารที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบงานบริหารลูกค้าโดยเฉพาะ
- บริหารจัดการงบการตลาดใหม่ การบริหารจัดการงบนั้น แบรนด์ไหนที่มีศักยภาพจะจัดสรรให้เยอะ มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น
- ลดต้นทุนการดำเนินงาน ร่วมกับโปรดักส์ในเครือ เพื่อเรียนรู้เรื่องการวิจัยและพัฒนา และเรียนรู้เรื่องอาหารโลคอล และลดต้นทุนวัตถุดิบ
- Collaboration ทั้งการทำโปรโมชั่นร่วมกัน การใช้พื้นที่ในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างกำไรให้ดียิ่งขึ้น
- ลงทุนเทคโนโลยี เราให้ความสำคัญการลงทุนไอทีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบหลังบ้าน
- หั่นงบการขยายสาขา เดิมทีวางแผนจะใช้งบสำหรับการขยายสาขา 200 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือเพียง 100 สาขา
บุญยง กล่าวว่า การคลายล็อคดาวน์ในทุกเฟสส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโต 10 – 15% ขณะนี้รายได้ร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งทานที่ร้านยอดขายกลับมา 90% แล้ว และคาดการณ์ว่ารายได้ไตรมาส 4 จะกลับมาได้ที่ 90-95% ส่วนที่เหลือ 5 -10% นั้นเพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไป ในสาขาสมุย ภูเก็ต พัทยา และหัวหิน
ธุรกิจอาหาร 4 แสนล้านวูบ 10%
เชื่อว่าทุกบริษัทจะปรับการตลาดใหม่ เชนร้านอาหารที่ไม่มีแพลตฟอร์มและไม่มีมาตรฐานความสะอาดจะอยู่ยากมากขึ้น ด้านกำลังการซื้อกลุ่มระดับกลางบนยังดีอยู่ แต่กลุ่มกลางล่างนั้นค่อนข้างได้รับผลกระทบ โดยภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านจะหายไป 10%
ภาพรวมร้านอาหารทุกแบรนด์ของเราถือว่าฟื้นตัวได้เร็วแบบ V Shape เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นกับแบรนด์มากขึ้น สามารถเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศและใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ในช่วงไตรมาสสอง ถือว่าเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้ว แต่เดือนมิถุนายนยอดขายกลับมาเติบโต 50% ผมคิดว่าไตรมาส 3 จะกลับมามีกำไร โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป
สำหรับรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก รายได้ถือว่าเท่าทุน แต่คาดการณ์ว่าธุรกิจอาหารจะกลับมามีรายได้เติบโตได้ภายในปีหน้านี้ โดยรายได้ของกลุ่มเซ็น กรุ๊ป เมื่อปีที่ผ่านมา 3,144.17 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากอาหารญี่ปุ่น 70% และ 30% เป็นแบรนด์อาหารไทย ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกมีรายได้กว่า 600 ล้านบาท กำไรติดลบ 44 ล้านบาท