สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ดูบทความทั้งหมด
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI
214
ภาครัฐ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนสำหรับการผลิตรถยนต์ EV ภายใน 5 ปี
สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลกขณะนี้คือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรับขึ้น Outperform หุ้นกลุ่มที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นการคาดการณ์ถึงโอกาสที่จะเกิด Disruption ในหลายอุตสาหกรรมและแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบทความฉบับนี้จะขอหยิบยกมุมมองของฝ่ายวิจัยฯ ต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งมักจะพูดถึงกันในรูปแบบของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘EV car’ ว่าจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน หากพิจารณาเฉพาะ บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในไทยที่สนใจลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ ได้แก่ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA), บริษัทบ้านปู (BANPU) และ กลุ่มบริษัท ปตท (PTT) โดยบริษัทที่เริ่มต้นการเปิดตัวให้ความสนใจในธุรกิจนี้แบบเต็มที่รายแรกในไทยก็คือ EA
ปัจจุบันภาครัฐ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนสำหรับการผลิตรถยนต์ EV ภายใน 5 ปี (ภายในปี 2568) โดยใช้มาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจลงทุน และล่าสุดมี 12 ค่ายรถยนต์ที่ตัดสินใจยื่นขอสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนแล้ว อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในไทยจะประสบความสำเร็จได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ i) จุดคุ้มทุน เนื่องจากรถยนต์ EV มีราคาที่สูงกว่ารถยนต์ปกติ
ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า จุดคุ้มทุนสำหรับผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ EV เมื่อเทียบกับรถยนต์ปกติ อยู่ที่ราว 10 ปี ii) การชาร์จพลังงานไฟฟ้า เป็นประเด็นที่สำคัญที่อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อรถยนต์ EV เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการชาร์จที่นาน และจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีน้อย (เมื่อเทียบกับจำนวนปั๊มน้ำมัน) iii) ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-จีน (ไม่มีภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน) อาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาจากผู้ประกอบการจีน จากประเด็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ทำให้เราเชื่อว่าตลาดรถยนต์ EV ในไทยจะเกิดขึ้นแบบช้าๆ โดยต้องหวังพึ่งพา i) การสนับสนุนจากภาครัฐฯที่มากกว่านี้ และ ii) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่จะทำให้ ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลดลงและการชาร์จพลังงานไฟฟ้าทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าในปัจจุบัน
จึงไม่แปลกใจที่จะเห็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยอย่าง EA และ BANPU ที่ตัดสินใจมุ่งเข้าหาธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับระบบขนส่งสาธารณะอย่าง รถแท็กซี่, รถเมล์, รถบัสโดยสาร, และเรือ เป็นต้น เนื่องจากประเมินว่า จะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่ในปริมาณที่มาก และสามารถเริ่มต้นได้เร็วกว่า นอกจากนี้เราประเมินว่า การที่ระบบขนส่งมวลชนใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จะส่งผลให้ผู้บริโภคและรวมถึงภาครัฐเอง เกิดการยอมรับในการใช้รถยนต์ EV ว่าสามารถใช้งานได้จริง การ Disruption ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานก็จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราประเมิน SET index จะผันผวนในช่วงของการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 (เดือน ก.ค.-ส.ค.) เนื่องจากผลการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เต็มไตรมาส และจะทำให้ Trailing PE ของตลาดหุ้นไทย ที่จะเป็นการพิจารณาราคาหุ้นเทียบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนย้อนหลัง 4 ไตรมาส มีโอกาสปรับตัวขึ้นมาก และทำให้ความน่าสนใจลงทุนลดลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การนำอัตราส่วน PE มาใช้พิจารณาการลงทุนนั้น อาจใช้ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ซึ่งเราประเมินว่าสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยจะเป็นรูปแบบ ‘V-shape’ ดังนั้นการใช้Trailing PE ในการพิจารณาเพียงวิธีเดียวนั้นอาจจะไม่เหมาะสม และแม้แต่วิธี Forward PE ที่จะใช้ราคาหุ้นเทียบกับประมาณการกำไรในอนาคตก็อาจจะทำให้เกิดความเอนเอียง (Bias) ของการประมาณการฯโดยนักวิเคราะห์ขึ้นได้ และเกิดปัญหาว่าจะใช้ฐานกำไรของปีใดในการคำนวณจึงจะเหมาะสม
เนื่องจากกำไรปี 2563 คาดว่าจะปรับลงอย่างมากและกำไรปี 2564 คาดว่าฟื้นตัวแรง เราจึงขอนำเสนอวิธีที่เรียกว่า Cyclical Adjusted PE (CAPE) ที่เป็นการคำนวณราคาหุ้นปัจจุบันเทียบค่าเฉลี่ยกำไรของบริษัทจดทะเบียนย้อนหลัง 10 ปี เพื่อเป็นการพิจารณาความสามารถในการทำกำไรที่แท้จริงของบริษัทจดทะเบียนไทยและตัดปัญหาเรื่องของวัฏจักรเศรษฐกิจออกไป โดยล่าสุด CAPE คำนวณได้เท่ากับ 16.85 เท่า (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 13.85 เท่า, +1 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 19.85 เท่า) ซึ่งจะเห็นว่า CAPE ไม่ได้สูงเกินไปสำหรับการลงทุน และยิ่งหากพิจารณาร่วมกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ New normal แล้ว ยิ่งทำให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ได้ต่ำเกินไปนัก หากมีการพักฐานระยะสั้นใน 1-2 เดือนนี้ จึงเป็นโอกาสสะสมหุ้นอีกครั้ง … สำหรับการวิเคราะห์ CAPE แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทวิเคราะห์เชิงปริมาณ Quantamental ของฝ่ายวิจัยฯ
ดูบทความทั้งหมดของ สุโชติ ถิรวรรณรัตน์