เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น – กุศโลบายดีๆ อุทยานแห่งชาติน้ำพองร่วมกับชาวบ้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์สร้างวังปลา หรือ “เยาะปลา” ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เพิ่มปริมาณปลาในเขื่อนให้จับกินจับขายได้ตลอดปี เล็งรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านรอบเขื่อนทำเยาะปลา หวั่นไม่ร่วมกันอนุรักษ์ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์แน่
วิกฤตน้ำแห้งขอดที่เกิดขึ้นกับเขื่อนอุบลรัตน์หนักสุดในรอบ 50 กว่าปี แม้ยังไม่กระทบต่อน้ำที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงคนทั่วเมืองขอนแก่นเพราะดึงน้ำก้นเขื่อนมาแก้ปัญหาไปพลางก่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัตว์น้ำในเขื่อนลดปริมาณลงอย่างมากเพราะชาวบ้านจับได้ง่ายขึ้น หลายฝ่ายวิตกว่าหากไม่เร่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลา อนาคตจะเกิดปัญหาปลาเพื่อบริโภคในท้องถิ่นขาดแคลน
ล่าสุดชาวบ้านภูเขาวง อ.อุบลรัตน์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำพองได้นัดหมายทำกิจกรรมอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกัน โดยสร้างวังปลาหรือบ้านปลา หรือ “เยาะปลา” (ภาษาถิ่น) เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดภายในเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเลือกทำเลบริเวณท้ายเขื่อน
การทำเยาะปลา หรือบ้านปลานั้น เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ คือนำกิ่งไม้ทั้งสดและแห้งขนลงเรือไปวางยังบริเวณที่มีตอไม้หรือจะปักหลักสร้างขึ้นมาใหม่ก็ได้ นำกิ่งไม้วางตรงกลางที่ปักเสาล้อมเป็นวงกลม ใช้เชือกมัดกิ่งไม้ไว้ป้องกันการถูกน้ำพัดแยกจากกัน เป็นสถานที่อยู่ของปลา หรือสัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อสืบพันธุ์ขยายพันธุ์
นายอภิเดช หมื่นน้อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง เล่าว่า หลังจากที่มีการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์มาตั้งแต่ปี 2507-2509 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 53 ปี น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ในปีนี้ถือว่ามีปริมาณน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างมา เมื่อก่อนตอนน้ำกักเก็บเยอะๆ ปลากถูกจับได้ยาก หลังปริมาณน้ำลดน้อยถอยลง ชาวบ้านพากันจับปลาได้ง่ายขึ้น ทั้งจับกินและจับขาย ส่งผลให้ปลาบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ เป็นประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก
ทางอุทยานฯ ได้สังเกตเห็นชาวบ้านหมู่บ้านภูเขาวงพากันทำวังปลาเป็นประจำทุกปีเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา ไม่จับปลาในช่วงฤดูวางไข่ เปิดโอกาสให้ปลาและสัตว์น้ำในเขื่อนขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในช่วงหลังๆ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านภูเขาวงอนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านทำวังปลา โดยการนำไม้ที่เป็นกิ่งใหญ่ หรือหนามไม้ไผ่ขนไปกองรวมกันในน้ำ โดยใช้หลักยึดไว้กับพื้นเพื่อให้กุ้งหอยปูปลาได้ใช้เป็นที่วางไข่ และหลบสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าจับเป็นอาหาร
หลังจากที่ได้ทำวังปลาหรือเยาะปลา ปรากฏว่าจำนวนปลาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการออกตรวจติดตามของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในเวลากลางคืน เมื่อส่องไฟลงไปในน้ำจะเห็นปลากระโดดขึ้นจากผิวน้ำเพื่อเล่นแสงไฟเยอะมาก
ในส่วนของปัญหาการลักลอบจับปลา คนในพื้นที่จะร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยบริเวณทำเป็นวังปลา กินพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ได้ปักธงไว้ห้ามใครก็ตามเข้ามาจับปลาในเขตที่กันไว้เป็นพื้นที่หวงห้าม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านและต่างเป็นหูเป็นตาไม่ให้คนนอกพื้นที่รุกล้ำเข้ามาหาปลาตามแนวที่กั้นไว้
“พื้นที่ทำบ้านปลามีทั้งแนวเขตของอุทยานฯ รวมกับเขตของหมู่บ้านภูเขาวงมากกว่า 1,000 ไร่ ชาวบ้านในพื้นที่จะทราบกันเป็นอย่างดีว่าบริเวณไหนเป็นเขตหวงห้าม ส่วนชาวบ้านจากต่างถิ่นถ้านำเครื่องมือหาปลาเข้ามา ทางอุทยานฯ ก็จะทำการเปรียบเทียบปรับตามระเบียบของอุทยานฯ เอง” นายอภิเดชกล่าว และว่า
ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการทำวังปลา หรือบ้านปลาที่นำมาใช้เป็นเครื่องมืออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำถือเป็นกุศโลบายที่ได้ผล เพราะช่วยให้ปริมาณปลาในเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่ทำประมงสามารถจับปลาในเขื่อนได้แทบตลอดทั้งปี เป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ได้ต่อเนื่อง
โดยอุทยานแห่งชาติน้ำพองมีแผนจะขยายผลโครงการดังกล่าวไปใช้กับชาวบ้านหมู่บ้านอื่น ในเขตอำเภอหนองเรือที่อยู่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์เช่นกัน
นายจันที ดวงสำราญ ผู้ใหญ่บ้านภูเขาวง หมู่ที่ 10 ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ บอกว่า ชาวบ้านภูเขาวงได้ร่วมมือร่วมใจกันทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยการสร้างบ้านปลา หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “เยาะปลา” มาตั้งแต่ปี 2553 เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีแล้ว เป็นที่สังเกตได้ว่าปริมาณปลาในเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มมากขึ้น
“เมื่อปริมาณปลาในเขื่อนเพิ่มขึ้น ชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่ม ชาวบ้านที่เคยทิ้งอาชีพทำประมงจับปลาขายแล้วออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่ ช่วงหลังพากันกลับมาอยู่กับครอบครัว มาจับปลาขายเหมือนเดิม มีกินมีใช้ไม่เดือดร้อน”
ผู้ใหญ่บ้านจันทีบอกอีกว่า อยากเชิญชวนให้พี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้านอื่นรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ร่วมมือกันทำวังปลาหรือเยาะปลา อาจจะรวมกันสองหมู่บ้านต่อการทำเยาะปลา 1 เขต หรือหมู่บ้านละเขตอนุรักษ์ก็ได้ เพราะทำแล้วมีแต่ผลดี มีปลาให้จับได้ตลอดปี