เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ทีโอทีปรับโครงสร้างรับควบรวม โดยเฉพาะตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้เหมาะสมกับ กสท โทรคมนาคม หวังเพิ่มประสิทธิภาพก่อนเป็นเอ็นที คาดมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 2563 ชูศักยภาพเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ลดการลงทุนซ้ำซ้อน พร้อมลุยโครงการท่อร้อยสายหลังบอร์ดดีอีมีมติเห็นชอบตามป.ป.ช.มอบหมายให้ดีอีเอส-กสทช.-ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดโครงการท่อร้อยสายระดับประเทศแนะเจ้าของพื้นที่ให้อนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อให้โครงการสำเร็จ
นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพร้อมในการควบรวมกิจการกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้นเพื่อให้สามารถประกาศใช้โครงสร้างใหม่ได้ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เพื่อให้ขนาดของโครงสร้างองค์กรเหมาะสมกับโครงสร้างองค์กรของ กสท โทรคมนาคม ที่มีตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ จำนวน 9 คน ขณะที่ปัจจุบันทีโอทีมีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ จำนวน 14 คน คาดว่าจะมีการยุบเหลือประมาณ 8-9 คน
ที่ผ่านมา ทีโอที มีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับปริมาณงานที่เกิดขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทีโอที มีพนักงาน 24,000 คน มี 39 ฝ่าย แต่ปัจจุบันมีพนักงาน 12,000 คน กลับมี 83 ฝ่าย มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 14 คนดังนั้นธุรกิจไหนที่เป็นธุรกิจหลักที่ทีโอทีมีความได้เปรียบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ก็ยังอยู่ ขณะที่บางธุรกิจหากรวมกันได้ต้องรวมกัน ส่วนการลดจำนวนฝ่ายนั้นไม่สามารถลดได้มากเพราะคนทำงานหลักคือฝ่าย อาจจะสร้างความไม่พอใจหรือผลกระทบต่อพนักงานได้ คาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 60 ฝ่าย ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่มีอยู่ 27 คน อาจจะไม่ได้ลดมากเพราะตำแหน่งนี้เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน
ทั้งนี้ แนวคิดการปรับโครงสร้างตอนนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ว่างลงจากการเกษียณในปีที่ผ่านมาจำนวน 2 คน และกำลังจะเกษียณเพิ่มเติมอีก 4 คน ในวันที่ 30 ก.ย. 2563 ดังนั้นจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างให้เสร็จก่อนและประกาศใช้โครงสร้างใหม่ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เพื่อจะได้ไม่ต้องสรรหาตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ว่างลงแทนคนที่เกษียณเข้ามาอีก ซึ่งเบื้องต้นตนเองได้หารือกับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เหลืออยู่บ้างแล้ว ทุกคนต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน
“ถามว่าตอนนี้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือยัง ก็ยังไม่ได้ แต่ใกล้เสร็จแล้ว มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเสนอบอร์ดพิจารณาให้รอบด้าน แต่การทำองค์กรให้กระชับก่อนควบรวมถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ ตอนนี้ทั้งทีโอที และ กสทโทรคมนาคม ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ เราไม่มีอารมณ์แข่งขันกันเองว่าใครต้องครองธุรกิจไหนแต่เราจะหาโซลูชันร่วมกันเพื่อไม่ให้ลูกค้ากระทบ นี่คือสิ่งสำคัญ”
นายมรกต กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่ทีโอทีโฟกัส จะเน้นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ภายใต้แนวคิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้โครงสร้างพื้นฐาน 5G ร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนก็ยินดีที่จะลดต้นทุนที่ต้องต่างคนต่างทำ และการทำโครงการท่อร้อยสาย ซี่งล่าสุดคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ ทีโอที ดำเนินการโครงการท่อร้อยสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอกรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันการทุจริต โดยระบุว่ากรุงเทพมหานครมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมคิดราคาค่าเช่าแต่ไม่สามารถลดค่าเช่าได้และต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เงินจากกองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO โดยต้องนำเข้าบอร์ดดีอี แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพธนาคมไม่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนการก่อสร้าง ขณะที่ ทีโอที สามารถลดราคาได้ ดังนั้น กสทช.ควรมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ
ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงาน กสทช. ทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ร่วมดำนินการในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงข่ายสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
2.ให้กรุงเทพธนาคม เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ กรณีข้างต้น ให้รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกิน 5%
3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดย กสทช. กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกันพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทางและอนุญาดให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ อันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตใช้สิทธิแห่งทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่ามีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วก็ตาม