สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวม 17 หน่วยงาน ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือ ภายใต้แผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อเร่งคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ของประเทศไทย
ทั้งนี้ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย โดย มร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม นายกสมามกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ที่บทบาทหลักในการดำเนินการเพื่อเร่งรัดกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ให้หมดไปจากประเทศ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอความร่วมมือไปยังสมาชิกของสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ในการปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรค
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ให้ประเทศไทยได้รับการรับรองเป็นประเทศปลอดโรคภายในปี 2565 พร้อมทั้งเป็นไปตามหลักการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ตามคำแนะนำของ OIE เพื่อประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติงานเพื่อกำจัดโรค โดยระดมทรัพยากรด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์และงบประมาณด้านข้อมูล ข่าวสาร การสื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชากรม้า และการขึ้นทะเบียน และด้านวิชาการ องค์ความรู้การศึกษาวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม
สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ของประเทศไทย 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. กรมปศุสัตว์ 2. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4. กรมประชาสัมพันธ์ 5. สัตวแพทยสภา 6. สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่า 7. ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 8. องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 9. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 10. สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย 11. สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย 12. สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย 13. กรมการสัตว์ทหารบก 14. หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ 15. กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 16. ชมรมสัตวแพทย์บำบัดโรคม้า และ 17. มูลนิธิม้าไทย