เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ดีป้าหนุนผู้ประกอบการไทยและสตาร์ทอัป จับมือ สวทช. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำมาตรฐาน IoT สำหรับคนไทยคาดเสร็จ ส.ค.2563
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัปและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่พัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ดีป้า ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่ผลิตโดยนักพัฒนาและผู้ประกอบการในประเทศ เช่น กล้องวงจรปิด โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานที่จะเป็นแนวทางที่ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถยกระดับการพัฒนาและการผลิตให้สามารถนำออกให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมั่นใจและเป็นมาตรฐานสากล
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในประเทศจะมีความมั่นใจในการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตโดยคนไทย มีมาตรฐานและการรับรองที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเองไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศที่มีราคาแพง หรือถูกเกินไปจนไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ มาตรฐานที่ดีป้าจะพัฒนาขึ้น เป็นมาตรฐานที่ยึดเอาความสมัครใจและการรับรองตามหลักวิชาการ ไม่ใช่มาตรฐานตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่บังคับให้ผู้ประกอบการทั้งในหรือต่างประเทศจะต้องได้รับมาตรฐานนี้
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า มาตรฐานนี้ใช้โค้ดเนมว่า DSure (ดีชัวร์) มาจาก Digital Sure หมายถึง อุปกรณ์ดิจิทัลที่เชื่อถือได้แน่นอน ชัวร์ โดยความคืบหน้าในการจัดทำมาตรฐานดีชัวร์อยู่ระหว่างการจัดทำร่างที่ใกล้จะเสร็จสมบรูณ์และหารือกับ สวทช. และสถาบันไฟฟ้าฯ เพื่อกำหนดห้องแล็บที่จะใช้ในการทดสอบอุปกรณ์ตามมาตรฐานที่ร่างขึ้นเพื่อให้การรับรอง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะให้ สวทช.หรือสถาบันไฟฟ้าฯ เป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวไปเสนอกับผู้ประกอบการที่ผลิตอุปกรณ์ IoT ในประเทศมีผู้ที่มีความสนใจจะนำอุปกรณ์เข้ารับการทดสอบแล้วประมาณ 10 บริษัท
“สำหรับมาตรฐานอุปกรณ์ดิจิทัลที่ดีป้าและพันธมิตรจะทำขึ้นจะเน้นการตรวจสอบ การใช้งานให้ตรงกับที่ผู้ผลิตบอกผู้บริโภค มีความปลอดภัยในการใช้งาน และความปลอดภัยของข้อมูล แม้ดีชัวร์จะไม่ใช่มาตรฐานบังคับ แต่จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ถ้าผู้บริโภครู้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ ผู้บริโภคจะรับทราบ โดยที่การตรวจสอบจะเน้นการทดสอบในห้องแล็บแล้วออกมาตรฐานรองรับ”
ทั้งนี้ ดีป้าคาดว่ามาตรฐานนี้จะเสร็จสมบรูณ์ในเดือนสิงหาคม 2563 และสามารถเปิดห้องแล็บทดสอบและออกมาตรฐานได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ในอดีตมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ห้าเป็นมาตรฐานที่ประเทศไทยโดยหน่วยงานด้านพลังงานพัฒนาขึ้น และใช้กับอุปกรณ์ที่ผลิตเองในประเทศ มาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ห้าเคยใช้เวลา 5-6 ปี จึงจะได้รับการยอมรับ แต่ผลที่ได้คือการช่วยผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ได้รับความเชื่อมั่น ดังนั้น ดีป้าจึงหวังว่าดีชัวร์ จะเป็นมาตรฐานอุปกรณ์ IoT ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศหรือสตาร์ทอัปที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้จะได้รับการยอมรับจากคนไทยและทำให้ไม่ต้องไปซื้อของที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ หรือไปซื้อของราคาถูกจนน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยเองได้รับการยอมรับอีกด้วย