เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน ขับเคลื่อนภาคธุรกิจไปสู่เป้าหมาย SDGs ในอีก 10 ปีข้างหน้า มุ่งสู่การลงมือทำในกลไกธุรกิจแท้จริง พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนผลักดันนโยบายเชิงกลยุทธ์ผ่านการดำเนินงานระดับประเทศ
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) พร้อมองค์กรสมาชิกจากบริษัทชั้นนำ 54 แห่ง เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของสมาคมฯ ประจำปี 2563 ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในรูปแบบ Virtual Meeting เป็นครั้งแรก ตอกย้ำเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ สร้างความตระหนักรู้และความสามารถในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาผนวกกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ มุ่งสู่การลงมือทำให้เกิดผลที่จับต้องได้อย่างแท้จริง พร้อมผลักดันการจัดทำกลยุทธ์ใหม่ๆ ผ่านการดำเนินงานระดับประเทศ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมฯ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรภาคธุรกิจเข้าใจแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ โดยสมาชิกร่วมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทของไทย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง ยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจ”
“โดยสมาคมฯ มุ่งเน้นแกนหลัก 4 ด้าน คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต แต่อาจรวมด้านอื่นด้วย อาทิ การศึกษาและสาธารณสุข ที่อาจจะเชื่อมโยงแกนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ยิ่งเมื่อประเทศเกิดวิกฤตจากโควิด-19 ความสำคัญเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยสำคัญยิ่งขึ้น ภาคธุรกิจได้เรียนรู้การปรับตัว ปรับทัศนคติและคิดค้นวิธีการทำธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ สักวันวิกฤตนี้ก็คงจะหมดไป แต่เรื่องความยั่งยืนจะยังเป็นประเด็นสำคัญของโลกสำหรับทุกคน ฉะนั้น การไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังมีความสำคัญและเราต้องผนึกกำลังกันต่อไป”
ทั้งนี้ แผนงาน 5 ยุทธศาสตร์ฯ ที่สมาคมฯ ได้รับรอง ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างความตระหนักรู้ ผ่านการจัดทำรายงานดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืนของประเทศไทยสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อให้เป็นตัวชี้วัดและข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กรภาคธุรกิจ ซึ่งยังมีองค์กรอีกมากมายที่ต้องการเห็นตัวอย่างของความสำเร็จ และถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรสมาชิกอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน ผนึกความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อสร้างและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ประการ อาทิ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และเปิดโอกาสให้องค์กรสมาชิก ได้พบปะแลกเปลี่ยนและหารือเรื่องความร่วมมือในการดำเนินงานต่างๆ หมุนเวียนตามแต่ละเป้าหมาย เพื่อช่วยยกระดับไปสู่การเป็นเครือข่ายสำหรับการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ และทิศทางของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างผู้นำยุคใหม่ในทุกระดับขององค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรควบคู่ไปกับความยั่งยืน ซึ่งโกลบอลคอมแพ็กจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีในการสร้างผู้นำยุคใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำรายงานประจำปีด้านความยั่งยืน ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ United Nations Global Compact หรือ UNGC และขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ภายใต้เป้าหมายหลัก 4 ด้านของโกลบอลคอมแพ็ก คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การยกย่องบุคคลที่ทำงานด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างแรงจูงใจ และเพิ่มพลังให้ผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรสามารถนำเสนอทางออกในการแก้ไขประเด็นสังคมด้านต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำเสนอผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อยกย่องผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในงาน “SDGs Pioneer” ซึ่งจะจัดขึ้นในต้นปี 2564
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกและการลดทอนให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) การนำเสนอเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น (Technology Disruption) แนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) การลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาผ่านสื่อดิจิทัล การสร้างเครือข่ายสังคมสตาร์ทอัพ (Social Startup Network) เป็นต้น
ด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นอนุกรรมการ และได้เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีสภาพัฒน์เป็นเลขานุการ ซึ่งกำลังดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG Targets ของประเทศไทย โดยมีกลยุทธ์และแผนงานหลายมิติที่สอดคล้องกับของสมาคมฯ จึงอยากให้สมาคมฯ ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกพย. เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้
ช่วงท้ายของการประชุม นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมภูมิใจที่ได้ร่วมเดินทางในเส้นทางแห่งความยั่งยืนนี้ ซึ่งยังคงมีความท้าทาย แต่เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันได้ หวังว่าสมาคมฯ จะสามารถชักชวนและสร้างกัลยาณมิตรร่วมเดินบนเส้นทางเดียวกันเพื่อความยั่งยืนของโลก ระบบบริโภคนิยมทุกวันนี้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา ทั้งต้นทุนทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมก็ดี การกระทำเหล่านี้ไม่ได้สร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ และไม่ได้สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรช่วยกันสร้างวิถีใหม่ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนให้กับการดำเนินธุรกิจของเราเอง รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลูกหลานของเราต่อไป”