nn คอลัมน์ “หมุนตามทุน” ครั้งก่อนได้เขียนถึงโครงการติดตั้งระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอย(Track & Trace) แสตมป์ยาสูบ มูลค่า 3.3 พันล้านบาท ของกรมสรรพสามิต ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ 2-3 ข้อ และทางอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ให้ข้อมูลชี้แจงมา “หมุนตามทุน” จึงได้นำข้อชี้แจงของกรมสรรพสามิตมานำเสนอให้เพื่อความเป็นธรรมและให้สังคมได้พิจารณา
ประเด็นที่ 1 กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงว่าโครงการดังกล่าว นำมาใช้กับผู้เสียภาษีทั้งผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ โดยอธิบ่ายเพิ่มเติมว่าปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรต โดยใช้วิธีการปิดแสตมป์บนซองเพื่อแสดงได้เสียภาษีแล้ว โดยผู้ผลิตจะต้องชำระภาษีสรรพสามิตก่อน แล้วมาขอรับแสตมป์ตามจำนวนที่ได้เสียภาษีแล้วนำไปติดบนซองด้วยเครื่องจักรที่โรงงานผลิต สำหรับกรณีของผู้นำเข้าเมื่อชำระภาษีแล้วก็จะนำแสตมป์ไปปิดที่โรงงานผลิตในต่างประเทศ จากนั้นจึงนำบุหรี่เข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบโดยการซุ่มตรวจเท่านั้น ดั้งนั้นหากว่าใช้ระบบ Track & Trace ที่มีรหัส QR ที่ไม่ซ้ำกันที่อยู่บนดวงแสตมป์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ และขั้นตอนและเวลาทำงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบและป้องกันการนำเข้าบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวเป็นวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับบุหรี่ทีผลิตในประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือสร้างภาระให้กับผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว
สำหรับในประเด็นนี้ “หมุนตามทุน” ก็ยังมีข้อสงสัยว่า…ผู้ผลิตในประเทศสามารถปิดแสตมป์และ activate แสตมป์ในสายการผลิตปัจจุบัน จากนั้นก็ทำการผลิตและบรรจุสินค้าได้ตามปกติแต่ผู้นำเข้าต้องย้ายขั้นตอนการปิดแสตมป์ในกระบวนการผลิตจากต่างประเทศมาทำในประเทศเท่านั้นแล้วยังเพิ่มขั้นตอนการ activate แสตมป์เข้าไป ทำให้ผู้นำเข้าจะต้องมาตั้งโรงงานที่ประเทศไทยเพื่อ unpack สินค้าทั้งหมดเมื่อนำเข้าแล้ว จากนั้นต้องปิดแสตมป์ activate แสตมป์ แล้วrepack กลับให้เหมือนเดิมโดยไม่ให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อคุณภาพและต้นทุนของสินค้า เหล่านี้ล้วนเป็นขั้นตอนที่จะเกิดเฉพาะกับผู้นำเข้าเท่านั้น และยังเป็นการบังคับให้ผู้นำเข้าต้องมีโรงงาน 2 ที่ทั้งในต่างประเทศและในประเทศทำให้ผู้นำเข้าต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร จ่ายค่าประกันสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจัดการโรงงานในไทยนี้เอง โดยภาระเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตในประเทศเพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 2 กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงว่าประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : FCTC) มีความจำเป็นในการพัฒนาระบบแสตมป์ให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาเพื่อเตรียมความพร้อมตามข้อบังคับในมาตรา 15 ซึ่งได้แก่การค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Illicit tradein tobacco products) ซึ่งระบบ Track & Trace เป็นระบบที่ใช้ได้ผลในหลายประเทศ ทำให้การจัดเก็บรายได้สูงขึ้นและลดการค้าที่ผิดกฎหมายลงได้ จึงเป็นระบบที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่จะดำเนินการ
สำหรับประเด็นนี้ “หมุนตามทุน” ก็ยังสงสัยอยู่….เพราะมาตรา 15 ของกรอบอนุสัญญาฯ มิได้บังคับให้ต้องใช้แสตมป์ เพื่อสร้างระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอยแสตมป์ยาสูบ มาตรา 15 เพียงแค่ระบุกว้างๆ ให้สมาชิกต้องมีระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอย “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” โดยไม่ได้บังคับว่าจะต้องให้ใช้แสตมป์ หรือให้ปิดแสตมป์เฉพาะในประเทศนำเข้าเท่านั้น หรือต้อง activate แสตมป์ในประเทศนำเข้าเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่มีประเทศอื่นใดที่ใช้ระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอยผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างสมบูรณ์หากใช้แสตมป์เป็นเครื่องมือ ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ (ซึ่งรวมถึง 27 ประเทศ EU) ก็ไม่ได้ใช้ระบบที่กรมสรรพสามิตเสนออยู่เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปในระดับสากลว่า การใช้แสตมป์มีข้อจำกัดมากมายนอกจากนี้ ยังไม่มีประเทศใดบังคับให้ผู้นำเข้าต้องปิดแสตมป์ และ activate แสตมป์ในประเทศที่นำเข้าเท่านั้น ดังนั้นระบบนี้จึงยังไม่เคยมีการดำเนินการที่ใดในโลกมาก่อน และการสร้างภาระให้ผู้นำเข้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจผิดความตกลงการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกในเรื่องอุปสรรคเทคนิคทางการค้า ขณะเดียวกันระบบของกรมสรรพสามิตก็ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขององค์การอนามัยโลกได้อย่างครบถ้วน จึงกลายเป็นว่าระบบที่ลงทุนกว่า 3 พันล้าน ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ได้ครบถ้วน เช่น จะไม่สามารถสร้างรหัสเฉพาะสำหรับบุหรี่แต่ละซองที่บ่งชี้ถึงวันและสถานที่ผลิตบุหรี่ให้ปรากฏบนแสตมป์ได้ เพราะข้อมูลวันและสถานที่ผลิตบุหรี่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ตั้งแต่ตอนผลิตแสตมป์ที่มีรหัสปรากฏอยู่ จะรู้เฉพาะเมื่อโรงงานบุหรี่กำลังจะผลิตบุหรี่เท่านั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัท SICPA ซึ่งกรมสรรพสามิตระบุว่าเป็นผู้ร่วมดำเนินการในโครงการ direct codingของอุตสาหกรรมสุราแช่ ซึ่งอาจมีส่วนร่วมประมูลในโครงการระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอยแสตมป์ยาสูบ….กรมสรรพสามิต รู้หรือไม่ว่า ปรากฏรายงานข่าวเกี่ยวกับการสอบสวนหรือถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนในความไม่ชอบมาพากลในหลายประเทศที่ SICPA เข้าไปทำธุรกิจ อาทิ บราซิล เคนยา แอลเบเนีย โมร็อกโก ฯลฯ โดยมีรายงานเมื่อ ส.ค. 2562 ว่า Office of State Attorney ของสวิตเซอร์แลนด์ เองก็กำลังสืบสวน SICPA เกี่ยวกับกรณีข้อสงสัยว่า SICPA อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส ในบราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา และในประเทศอื่นๆ อีก 10 ประเทศ
กระบองเพชร