เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กาญจนบุรี – เจ้าแม่ขนแรงงานเถื่อนเสนอเงินสินบน 70,000 บาท แลกปล่อยตัว หลังถูก 2 อส.อ.สังขละบุรี ปลอมตัวเป็นคนหาปลาซุ่มโป่งจับกุม พร้อมแรงงานชาวพม่า 18 ราย แต่ถูกปฏิเสธ พบประวัติเป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ อ้างได้ค่าหัวแค่ 800 บาท
นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี เผยว่า สืบทราบว่าจะมีขบวนการลักลอบขนแรงงานชาวพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ด้วยการเดินทางทางเรือล่องไปตามอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ จึงประชุมวางแผนในการป้องกัน พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ อส.อ.สังขละบุรี กระจายกำลังกันไปซุ่มโป่ง ตามชายขอบของอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ
จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค.63 ที่ผ่านมา ขณะที่ อส.สมชาย เจตนารักษ์ชาติ และ อส.ภูมิพัฒน์ ทุ่งพนาสิริรักษ์ กำลังดักซุ่มด้วยการปลอมตัวเป็นคนตกปลาอยู่ที่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ท้องที่บ้านหลังเขา หมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี
พบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ สีดำ หมายเลขทะเบียน 2 ฒพ 2577 กทม. วิ่งผ่านสวนยางพาราลงไปจอดริมอ่างเก็บน้ำ จากนั้นมีเรือหางยาว 2 ลำเข้ามาจอดเทียบท่า เจ้าหน้าที่ อส.ทั้ง 2 นายสังเกตดูท่าทางมีพิรุธ จึงแสดงตัวเพื่อขอตรวจค้น ผลปรากฏพบแรงงานชาวพม่าทั้งชายหญิง นั่งอัดกันแน่นอยู่เต็มคันรถ ส่วนคนขับเรือทั้ง 2 ลำ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ อส.ทั้ง 2 นาย จึงอาศัยช่วงชุลมุนเร่งเครื่องหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว สำหรับรถยนต์คันดังกล่าวมี น.ส.กรณิภา อมรเดชากร อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 353/1หมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นคนขับ ส่วนแรงงานที่ควบคุมตัวเอาไว้ได้มีทั้งหมด จำนวน 18 ราย
จึงได้ประสาน พ.ต.อ.นันทเศรษฐ์ สุขนพกิจ ผกก.สภ.สังขละบุรี พ.ต.ท.ฐิติกร วันเจริญพันธ์ รอง ผกก.ป.สภ.สังขละบุรี ร.ต.สุทธิวงศ์ เมฆฉาย ปลัดอาวุโส อ.สังขละบุรี จ.ส.ท.กิตตินันท์ แสงจันทร์ ปลัดฝ่ายความมั่นคง อำเภอสังขละบุรี ร.ต.อนุพงษ์ กานะ และเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ ร่วมเดินทางมาตรวจสอบยังจุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะคุมตัวคนขับพร้อมแรงงานต่างด้าวชาวพม่ารวม 19 ราย ไปสอบสวนเพิ่มเติมที่ สภ.สังขละบุรี ก่อนที่จะส่งตัวให้แก่พนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี ได้ดำเนินคดีต่อ น.ส.กรณิภา อมรเดชากร คนขับซึ่งเป็นคนไทย ในข้อหา ช่วยเหลือซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้พ้นจากการจับกุม และเป็นเจ้าของยานพาหนะ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ฉบับที่ 2296 ลงวันที่ 2 มิ.ย.63 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ม.52) ส่วนแรงงานต่างด้าวชายหญิงทั้ง 18 ราย จะถูกดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน
ซึ่งจากการตรวจสอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าว พบว่า มีนายศักดิ์ชัย สุระเกียรติชัย ชาวตำบลตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นเจ้าของ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสอบสวนเพื่อขยายผลว่านายศักดิ์ชัย นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร
เบื้องต้น น.ส.กรณิภา อมรเดชากร ผู้ต้องหาชาวไทยให้การว่า ตนกำลังนำแรงงานต่างด้าวจำนวนดังกล่าวไปส่งที่บริเวณท่าน้ำบ้านหลังเขา เมื่อไปถึงจะมีคนมารับแรงงานต่อไปอีกทอดหนึ่ง โดยจะได้รับค่าจ้างหัวละ 800 บาท แต่ต้องมาถูกจับกุมเสียก่อน ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ น.ส.กรณิภา ถูก อส.สมชาย และ อส.ภูมิพัฒน์ จับกุมตัวได้พร้อมแรงงาน น.ส.กรณิภา ได้เสนอให้เงินสินบนแก่ อส.ทั้ง 2 นาย เป็นเงินสูงถึง 7 หมื่นบาท แต่ อส.สมชาย และ อส.ภูมิพัฒน์ ได้กล่าวปฏิเสธที่จะรับเงินสินบนจำนวนดังกล่าว จึงได้รับคำชื่นชมจากนายปกรณ์ กรรณวัลลี นอภ.สังขละบุรี ผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานที่ถูกจับกุมตัว ให้การว่า พวกตนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านจุดผ่อนปรนชั่วคราวด่านพรมแดนบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู จากนั้นมีผู้นำพาเดินไปตามช่องทางธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมที่บริเวณด่านตรวจบ้านน้ำเกิ๊ก หมู่ 8 ต.หนองลู โดยทั้งหมดจะเดินทางไปทำงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล หากทำสำเร็จทุกคนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายละ 7,500 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีแรงงานชาวพม่า เริ่มลักลอบเดินทางเข้ามาในพื้นที่ อ.สังขละบุรี เป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมแรงงานเหล่านี้ได้เกือบทุกวัน ทำให้ห้องขัง สภ.สังขละบุรี ไม่เพียงพอที่จะควบคุมตัว พนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี ต้องเร่งดำเนินการส่งฟ้องศาลเพื่อระบายแรงงานต่างด้าวไปคุมขังที่อื่น โดยเฉพาะที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับ ตม.กาญจนบุรีเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถทำการผลักดันชาวพม่าที่เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากทางการพม่าปฏิเสธรับตัวกลับในช่วงนี้ ส่งผลให้ทางการไทยต้องแบกรับภาระจัดหาสถานที่ควบคุมตัว รวมทั้งดูแลเรื่องอาหาร ที่ต้องจัดหาให้วันละ 3 มื้อ เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
โดยมีการเสนอให้ทางการไทยเร่งประสานขอความร่วมมือในการส่งผู้ต้องหาชาวพม่า กลับประเทศ พร้อมทั้งหาแนวทางจัดตั้งศูนย์ตรวจและคัดกรองโรคโควิด-19 ขึ้นที่บริเวณชายแดนบ้านด่านพระเจดีย์สามองค์ พร้อมจัดหาสถานที่ควบคุมตัวแรงงานชาวพม่าที่มีพาสปอร์ต ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นกลุ่มที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการชาวไทย
โดยทำการกักตัวจนกว่าจะครบ 14 วัน หากแรงงานไม่มีอาการการติดเชื้อโควิด-19 ก็ดำเนินการให้นายจ้างมารับตัวไปทำงานได้ โดยค่าใช้จ่ายในการกักตัวตลอด 14 วัน แรงงานที่ถูกกักตัวจะต้องเป็นผู้จ่ายเอง
ซึ่งแนวทางนี้หากทำได้ก็จะเป็นการจัดการปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองได้อย่างเป็นระบบ และสามารถตัดวงจรขบวนการค้ามนุษย์ ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม