พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา
ดูบทความทั้งหมด
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
ท่านผู้อ่านครับ ต้องยอมรับว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โลกเผชิญกับวิกฤติที่หนักหนาสาหัส จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรง
จนก่อให้เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขไปทั่วโลกและผลักให้โลกเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2563 เป็นหดตัว 4.9% ต่ำลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายนว่าจะหดตัว 3% เช่นเดียวกับการค้าโลกที่องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าจะหดตัวถึง 13-32% ในปี 2563 สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพื่อเร่งฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่โลกหลังวิกฤติ COVID-19 ยังมีความเสี่ยง
หลายประการที่รออยู่ข้างหน้า วันนี้ผมจึงขอชวนทุกท่านมาพิจารณาความเสี่ยงของธุรกิจส่งออกในช่วงหลังจากการระบาดคลี่คลายลง เพื่อจะได้สามารถวางกลยุทธ์ไว้พร้อมรับมือได้อย่างรอบด้าน
- ความเสี่ยงคู่ค้า…ยังอาจซ่อนตัวอยู่อีก 1-2 ปี โดยหลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ค่อนข้างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก และขนส่งมวลชน โดยเฉพาะสายการบิน ที่ต้องหยุดดำเนินงานบางส่วนชั่วคราว มีการปรับลดพนักงาน ขณะที่บางสายการบินต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากความต้องการใช้บริการหายไปเกือบทั้งหมดจากมาตรการ Lockdown ของหลายประเทศทั่วโลก
ไปจนถึงภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่เผชิญกับ Supply Chain Disruption ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมีผลบั่นทอนฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านั้น ซึ่งหากกิจการใดมีสายป่านทางการเงินที่ไม่เข้มแข็งพอก็อาจจะไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเป็นปกติได้ และนำมาซึ่งประเด็นที่น่ากังวล คือ
การปิดกิจการหรือล้มละลายตามมาหลังจากวิกฤติจบไปแล้ว 1-2 ปี ดังนั้น ในระยะข้างหน้า เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง และการค้าโลกเริ่มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ความเสี่ยงของภาวะล้มละลายและผิดนัดชำระค่าสินค้าของธุรกิจที่เป็นคู่ค้าของเราจะยังคงซ่อนตัวอยู่อีก 1-2 ปี เลยทีเดียว
ซึ่งสอดคล้องกับที่ Aon (บริษัทรับประกันชั้นนำของโลก) คาดการณ์ว่าอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของการประกันสินเชื่อทางการค้าปี 2563 จะสูงถึง 125% เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากสถานการณ์ปกติ - ความเสี่ยงธนาคารคู่ค้า…ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาคธุรกิจ แม้ภาคการเงินไม่ใช่ต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้เช่นวิกฤติในปี 2551 แต่สถาบันการเงินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเมื่อมีธุรกิจล้มละลายจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่ผมกังวล คือ สถานะของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่คู่ค้าใช้ทำธุรกรรมการค้า เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าหากธนาคารคู่ค้าในต่างประเทศเกิดปัญหาในการดำเนินงาน ทั้งนี้ สำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการติดตามสถานะของธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศอาจสังเกตเบื้องต้นได้จากสัดส่วนของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loans : NPLs) โดยเฉพาะในประเทศที่ภาคการเงินอยู่ในภาวะอ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ดังเช่นกรณีของอินเดียที่ภาคการเงินเป็นปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ในปี 2562 โดยคาดกันว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของอินเดียอาจเพิ่มขึ้นเป็น 18-20% ในสิ้นปีนี้ จากราว 9% ในช่วงปลายปี 2562 รวมถึงบางประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี กรีซ และสเปน ที่ภาคการเงินถือเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจ
- ความเสี่ยงประเทศคู่ค้า…บางประเทศมีฐานะทางการคลังที่อ่อนแออยู่แล้ว วิกฤติ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นการทุ่มงบประมาณในการป้องกันการแพร่ระบาดและการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสำหรับบางประเทศที่โครงสร้างเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังยังคงมีจุดอ่อน โดยเฉพาะประเทศในลาตินอเมริกาและแอฟริกา การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในเวลานี้ย่อมกระทบต่อฐานะทางการเงินของประเทศในระยะยาว ขณะที่ก็ไม่อาจปฏิเสธการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ สะท้อนได้จากการที่ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศ ที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินฉุกเฉินจาก IMFเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแม้หลังจากสถานการณ์ COVID-19 บรรเทาลง แต่คาดว่าภาระหนี้ในหลายประเทศจะยังคงอยู่ และอาจกลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์รับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวหลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยผู้ประกอบการควรหมั่นติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ EXIM BANK พร้อมที่จะช่วยผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบของ COVID-19 ในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่การพักชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้น 6 เดือน บริการคลินิกให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และสินเชื่อในเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ ตลอดจนบริการที่ใช้รับมือและป้องกันความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจสอบสถานะคู่ค้าและธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ ไปจนถึงบริการประกันการส่งออก
ดูบทความทั้งหมดของ พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา