หากสถานการณ์ปกติ ไม่มี “โควิด” เกาะกินโลกให้วุ่นวาย ห้วงเวลานี้มหกรรมกีฬาโลกจะต้องเกิดขึ้นที่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 หรือรู้จักในชื่อ “โตเกียว 2020”
แต่จากสถานการณ์โรคระบาดทำให้กำหนดการแข่งขันเปลี่ยนแปลงจากเดิม ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม ปีนี้ เลื่อนไปเป็นวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม ปีหน้า ตามมติการหารือระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี กับทางรัฐบาล ญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกและประชาคมโลก
เมื่อช่วงเวลาใหม่ยังมาไม่ถึง ช่วงเวลานี้ที่ควรจะเป็นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เรามาลองมามองย้อนรำลึกถึงโอลิมปิก เมื่อ 4 ปีก่อน ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ณ กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หรือ “ริโอเกมส์ 2016” กับความสำเร็จ 6 เหรียญของนักกีฬาไทย มีใครบ้าง
“ดุ่ย” สินธุ์เพชร กรวยทอง เหรียญทองแดง นักยกน้ำหนัก
เป็นผลงานที่เรียกว่าได้มาแบบเหนือความคาดหมาย สำหรับ “ดุ่ย” สินธุ์เพชร กรวยทอง นักยกน้ำหนักชาย รุ่น 56 กิโลกรัม ทำสถิติยกได้น้ำหนักรวม 289 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองแดงมาครอง เนื่องเพราะก่อนเดินทาง “ดุ่ย-สินธุ์เพชร” หนุ่มจากเมืองสุรินทร์เป็นแค่นักกีฬาดาวรุ่ง เพิ่งผ่านเลขหลักสองมาไม่กี่วัน
เกิดเมื่อ 22 สิงหาคม 2538 ผลงานเด่นตั้งแต่วัย 14 เมื่อคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันยกน้ำหนักยุวชนแห่งเอเชีย เมื่อปี 2554 ในรุ่น 50 กก. จากนั้นขยับยาวมาสู้ในรุ่น 56 กก. คว้าเหรียญทองเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย และคว้าเหรียญทองเยาวชนชิงแชมป์โลก ที่ประเทศโปแลนด์ ในปี พ.ศ.2558
ปีรุ่งขึ้นระเบิดฟอร์มในโอลิมปิก ยกในท่าสแนทช์ได้ 132 กก. ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ได้ 157 กก. รวม 289 กก. แม้ไม่ดีพอจะคว้าเหรียญทองแต่สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ
ส่วน เหรียญทอง หลง กิงกวน นักยกลูกเหล็ก จีน รวม 307 กก. และเหรียญเงินจาก เกาหลีเหนือ ออม ยุน ชอล ยกน้ำหนักรวม 306 กก.
เป็นจอมพลังชายไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์
“เทนนิส” พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองแดง เทควันโด
เป็นเต็งเหรียญมาตั้งแต่ต้น สำหรับ “เทนนิส” พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง
“เทนนิส-พาณิภัค” จอมเตะหน้าหวานสาวใต้จากเมืองร้อยเกาะ สุราษฏร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 เกิดในครอบครัวกีฬาที่มีพ่อเป็นอดีตนักฟุตบอล ส่วนแม่เป็นอดีตนักว่ายน้ำ เริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้ตอน 9 ขวบ และติดทีมชาติครั้งแรกในวัย 13 หลังคว้าแชมป์ในรุ่น 42 กก. “กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27” ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีเดียวหลังติดธงสร้างชื่อกระฉ่อนเมื่อคว้าแชมป์ “โคเรีย โอเพ่น 2011” ถึงถิ่นเกาหลีใต้ ในรุ่นเดียวกันด้วยวัยเพียง 14 ปี
“เทนนิส” กวาดล่าแชมป์ในกีฬาเทควันโดมาเป็นว่าเล่น อาทิ แชมป์เทควันโดโลกปี 2015 รุ่นไม่เกิน 46 กก. และยังเป็นเจ้าของ เหรียญทอง แรกจากกีฬาเทควันโด รุ่นเยาวชนหญิง ไม่เกิน 44 กก. ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชน หรือ มหกรรมกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ที่เมืองหนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ใน “ริโอ เกมส์ 2016” นักเทควันโด้สาวไทย “เทนนิส” พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ เป็นมืองวางอันดับ 2 นัดแรกรอบ 16 คนสุดท้ายชนะ “มาเรีย อันดราเด้” สาวจากประเทศเคปเวิร์ด ไปแบบขาดลอย 18-6
แต่ในรอบ 8 คนสุดท้าย ราวสวรรค์แกล้ง “เทนนิส” พ่าย “คิม โช ฮุน” แชมป์โลกจากเกาหลีใต้ แบบสุดช็อกใน 4 วินาทีสุดท้าย หมดสิทธิ์เข้าชิงเหรียญทอง หลุดไปเล่นในรอบชิงเหรียญทองแดงอีก 2 นัด
ด้วยความสามารถที่เหนือกว่า จอมเตะจากแดนใต้เอาชนะ “คานเซ็นโก้ ดิเอส” จาก เปรู ไปชิงเหรียญทองแดง กับ “บาสติด มาติเนซ” จากเม็กซิโก ก่อนชนะแบบเหนือชั้น 15-3 พร้อมกับคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ
ปัจจุบันเป็นนักเทควันโด้อันดับหนึ่งของโลก นักกีฬาหญิงยอดเยี่ยมปีล่าสุด และเต็ง 1 เหรียญทองโอลิมปิกปีหน้า
“แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว เหรียญเงิน ยกน้ำหนัก
สตรีผู้สร้างประวัติศาสตร์นักยกน้ำหนักไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัล 2 ครั้งติดต่อกันในโอลิมปิก สำหรับ “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว หลังจากได้เหรียญเงิน “ลอนดอน 2012” จากรุ่นน้ำหนัก 58 ก.ก.หญิง ก่อนมาได้เหรียญเงินอีกครั้งจากรุ่นเดิมใน “ริโอ 2016”
เป็นสาวขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2533 วัยเด็กเป็นนักวิ่งระยะสั้น แต่ด้วยรูปร่างเล็กและสันทัดถึงถูกจับให้มาฝึกยกน้ำหนัก ในวัย 16 “แต้ว-พิมศิริ” ติดธงชาติไทยครั้งแรก ปีต่อมาสร้างผลงานเด่นเป็นความหวังให้สมาคมฯ เมื่อคว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก รุ่นน้อยกว่า 58 กิโลมกรัม
ขณะอายุ 20 ปี “แต้ว-พิมศิริ” เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 “ลอนดอนเกมส์” พร้อมสร้างชื่อคว้าเหรียญเงิน ในรุ่น 58 ก.ก.หญิง โดยในการยกท่าคลีนแอนด์เจิร์ก เธอสามารถยกได้ถึง 136 ก.ก.
หลังจากนั้น “แต้ว-พิมศิริ” มีอาการบาดเจ็บ สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ก่อนที่จะมุ่งมั่นตั้งใจและฟิตซ้อมจนร่างกายเข้าที่และคว้าโคว้ต้าเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล และคว้าเหรียญเงิน ได้อีกสมัย แต่เป็นการคว้าเหรียญเงินที่คนไทยยกย่อง เพราะเธอไม่ยอมยกครั้งสุดท้ายตามโคว้ต้าที่เหลือ ปล่อยให้ดาวเด่นรุ่นน้อง “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช ที่มีสถิติดีกว่า คว้าเหรียญทองไปครอง
หลังจากกลับมา “แต้ว-พิมศิริ” ตอบคำถามสื่อที่จ้องถามว่า ทำไมไม่ยก อย่างคมกริบ
“ขณะแข่งขันทำเพื่อชาติ สู้เพื่อประเทศไทย ใครก็ได้ที่ได้เหรียญทองถือเป็นคนไทยด้วยกัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจแล้ว”
หลังจบศึกโอลิมปิก “ริโอเกมส์” ประกาศหันหลังให้ทีมชาติในวัย 26 ปี ก่อนที่จะหวนมารับใช้ชาติอีกครั้งหลังพักไป 2 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันรับราชการทหารอยู่เชียงใหม่ และติดยศ “ร้อยโทหญิง”
“เทม” เทวินทร์ หาญปราบ เหรียญเงิน เทควันโด
เป็นนักเทควันโดชายคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติที่สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกได้สำเร็จ สำหรับ “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ เทควันโดชาย ชาย รุ่น 58 กิโลกรัม
หนุ่มน้อยจากเมืองปทุมธานี เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เริ่มเล่นกีฬาเทควันโดตั้งแต่อายุ 7 ปี เริ่มจากประเภทพุ่มเซ่ ก่อนมาต่อสู้สร้างผลงานยอดเยี่ยมในระดับเยาวชน ได้รับเหรียญเยาวชนแห่งชาติ กระทั่งติดทีมชาติในปี 2556
“เทม” ประเดิมในการแข่งขันเทควันโดเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย รายการ “เอเชี่ยน จูเนียร์ เทควันโด แชมเปี้ยนส์ชิฟ 2013” รุ่นไม่เกิน 45 กก.ชาย ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้รับเหรียญ ก่อนมาแก้ตัวสำเร็จในการแข่งขันเทควันโด รายการ “โคเรีย โอเพ่น 2013” ที่เมืองชุนชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยคว้าเหรียญเงิน รุ่นไม่เกิน 48 กก.ชาย
จากนั้นทำผลงานต่อเนื่องแม้ไม่โดดเด่น อาทิ คว้าเหรียญทอง กีฬาโอลิมปิกเยาวชนรอบคัดเลือกที่ไต้หวัน 2014 เหรียญทองแดง เทควันโดเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ไต้หวัน 2015
กระทั่งในปี 2016 ก่อน “โอลิมปิก” ยึดเป็นตัวแทนในรุ่น 58 กก. ไปแข่ง “ยูเอสโอเพ่น” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เหรียญทองแดงรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 58 กก.
ใน “ริโอ เกมส์” ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคาดคิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้จะไปไกล ยิ่งเมื่อทราบผลการจับสลากประกบคู่ เพราะในรอบแรกต้องเจอกับ “คิม แต ฮุน” เต็ง 1 และ แชมป์โลก จากประเทศเจ้าตำรับเกาหลีใต้ แต่เมื่อถึงวันแข่งขัน “เทม-เทวินทร์” ฟอร์มเข้าฝักอาศัยจังหวะช่วงชิงทำคะแนนเอาชนะไปอย่างสูสี 12-10 จากนั้นไม่ใช่งานยากผ่าน ออสเตรีเลย และ โดมิกัน ในรอบก่อนรองฯ และรอบตัดเชือกมาได้สำเร็จ
แต่ในรอบชิงชนะเลิศต้องลงสนามพบกับ “เจ้า ฉ่วย” จอมเตะจากจีนเจ้าของส่วนสูง 188 เซนติเมตร ฝีมือไม่เป็นรองแต่ช่วงสู้สั้นกว่า “เทวินทร์” จึงพ่ายไปอย่างหวุดหวิด 4-6 รับเหรียญเงินกลับบ้าน
พร้อมสร้างประวัติศาสตร์นักเทควันโดชายคนแรกที่ได้รับเหรียญรางวัล
“ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช เหรียญทอง ยกน้ำหนัก
ในการแข่งขันยกน้ำหนักหญิง 58 กิโลกรัม ไทยส่ง 2 คน คือ “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช และ “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว เจ้าของเหรียญเงิน จาก”ลอนดอน 2012″ เพราะอีกคนคือดาวรุ่ง ส่วนอีกคนคือประสบการณ์
สำหรับ “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช จอมพลังสาวจากชลบุรี เกิดเมื่อ 3 พฤษภาคม 2538 อำเภอศรีราชา ชลบุรี ผลงานเด่นก่อนเดินทางไปโอลิมปิกคือ เหรียญทองแดงยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก “อัลมาเตอ 2014” ในรุ่น 58 กิโลกรัม
เมื่อถึงวันแข่งขันผลปรากฏว่า “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช สร้างผลงานกระหึ่มโลกด้วยการทุบสถิติโอลิมปิกในท่าสแนตช์ 108 กิโลกรัมของ ลี ซู่ หยิง จาก จีน เมื่อปี 2012 ยกครั้งที่ 3 ทำได้ 110 กิโลกรัม และ คลีน แอนด์ เจิร์ก 130 กิโลกรัม ทำน้ำหนักรวม 240 กิโลกรัม
ขณะที่ “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว จอมพลังจาก จ.ขอนแก่น ยกท่าสแนตช์ 102 กิโลกรัม และ ท่าคลีน แอนด์ เจิร์ก 130 กิโลกรัม โดนขอสละสิทธิ์ครั้งที่ 3 ส่งผลให้หยิบเหรียญเงิน ส่วนเหรียญทองแดง ตกเป็นของ กัวะ ซิง ฉุน จาก ไต้หวัน ยกท่าสแนตช์ 102 กิโลกรัม และ คลีน แอนด์ เจิร์ก 129 กิโลกรัม รวม 231 กิโลกรัม
เป็นภาพประทับใจที่นักกีฬาไทยขึ้นรับทั้งเหรียญทองและเงินครั้งแรก
“แนน” โสภิตา ธนสาร เหรียญทอง ยกน้ำหนัก
สาวน้อยหน้าหวานจากแดนใต้ “แนน” โสภิตา ธนสาร จอมพลังสาว จ.ชุมพร คว้าเหรียญทองมาครองจากยกน้ำหนักหญิง รุ่น 48 กิโลกรัม เกิดวันที่ 23 ธ.ค.2537 ปัจจุบันอายุ 22 ปี เป็นชาวจังหวัดชุมพร เริ่มเล่นยกน้ำหนักเมื่อปี พ.ศ.2549
แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้สนใจยกน้ำหนักมาแต่ต้น กีฬาที่เริ่มเล่นคือชกมวย กระทั่งญาติชักชวนให้มาเล่นยกน้ำหนัก จนพัฒนาตัวเองจนก้าวติดทีมชาติ ติดทีมชาติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2553
ผลงานเด่นในระดับเยาวชนคือ การแข่งขันยกน้ำหนักเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2013 ที่ประเทศเปรู โดยทำได้ 1 เหรียญทอง และ 2 เหรียญทองแดง
ในการแข่งขัน “ริโอ เกมส์” สาวน้อยจากชุมพร วัย 22 เวลานั้น ลงแข่งในรุ่นไม่เกิน 48 กก. ยกท่าสแนตช์ผ่านหมด 3 ครั้ง สกอร์ดีที่สุด 92 กิโลกรัม ส่วนท่าคลีนแอนด์เจิร์ก “น้องแนน” ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน ยกผ่านสองครั้งแรกสกอร์ดีที่สุด 108 กิโลกรัม รวมน้ำหนักได้ 200 กก. ได้เหรียญทองไปครอง ในวัย 21 ปี
การฉลองชัยของ “แนน” มีอย่างคึกคักที่กรุงเทพและบ้านเกิด รับเงินอัดฉีดรวมเกือบ 30 ล้านบาท
สรุปเหรียญรางวัลของทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิกส์ 2016 ทำได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง อันดับที่ 35 ส่วน “โตเกียว 2020” โอลิมปิกปีหน้าไทยจะได้อีกเหรียญต้องอดใจรอกันต่อไป