ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “วารสารการเงินธนาคาร” ว่า ธุรกิจการเงินอาจจะมองว่ามีโอกาสน้อย แต่จริงๆยังมีโอกาสอีกเยอะในประเทศไทยภายใต้รูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะต้องลดต้นทุนที่ผ่านมาต้นทุนของธนาคารเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจมาจากหลายเหตุผล เช่น เทคโนโลยีอาจจะยังเป็นแบบเดิม วิธีการให้บริการผ่านสาขาที่มีต้นทุนสูงหรือกฎเกณฑ์กติกาบางอย่างก็ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม หากธนาคารเห็นโอกาสจากการใช้ดิจิทัลมาช่วยจะทำให้ต้นทุนการให้บริการถูกลงและควบคุมความเสี่ยงได้ดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านมาร์เก็ต เทคโนโลยีช่วยได้เยอะมาก
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะเน้นการทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเดิม ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มเดิมเพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะไปเจาะตลาดใหม่ ประเทศไทยยังมีหนี้นอกระบบอีกเยอะมาก ซึ่งเทคโนโลยีจะทำให้แบงก์เอาลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบได้
“หนี้นอกระบบพูดกันที่ดอกเบี้ยเป็นเดือนไม่ใช่เป็นปี วันนี้ก็ทยอยเอาเข้ามาแล้ว เช่น ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นโอกาสทางธุรกิจว่าใครสามารถที่จะเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆได้เร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มันจะเป็นโอกาสในเรื่องธุรกิจการเงิน”
ดร.วิรไท กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 ธปท.จะออกกรอบอนุญาตในการทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล หรือDigital Lending ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นใบอนุญาตแต่เป็นกรอบการอนุญาต ซึ่งผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล แต่จะเป็นการให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่การพิสูจน์รายได้ของลูกหนี้ ไม่จำกัดว่าต้องมีสลิปต์เงินเดือนอย่างเดียวเป็นหลักฐานอื่นได้ (Alternative Data)ได้ ซึ่งตอบโจทย์ของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เทคโนโลยีพิสูจน์รายได้ของผู้กู้ได้
อีกด้านหนึ่งคือด้านที่เกี่ยวกับเงินออมอันนี้มีความต้องการอีกเยอะมาก ทำอย่างไรที่จะมีผลิตภัณฑ์ด้านเงินออมที่ตอบโจทย์กับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ สร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาว ซึ่งจะเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับประกันชีวิต เรื่องเกี่ยวกับกองทุนรวมก็ออมออกมามากขึ้นและยังสามารถที่จะทำได้อีก
“หากทำธุรกิจแบงกิ้งแบบเดิมๆก็ไม่ค่อยเห็นโอกาส แต่ถ้าหันมาทำธุรกิจใหม่ๆก็ยังมีโอกาส และธปท.ก็ยังเปิดโอกาสให้แบงก์ทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องได้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี เพราะในโลกใหม่เป็นโลกของแพลตฟอร์ม ฉะนั้นในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2562 ธปท.แก้แนวนโยบายหลายอย่างที่จะให้แบงก์สามารถใช้ทรัพยากรตัวเองที่มีอยู่ทางด้านไอทีไปทำธุรกิจอื่นได้”