เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ทีโอที เปิดประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้นักเรียนโครงการ TOT Young Club ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศดาวเทียมวงโคจรต่ำ
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ณ สถาบันวิชาการ ทีโอที ถนนงามวงศ์วาน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เดินหน้านวัตกรรมด้านการบริการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัล ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและเพื่อเป็นการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ทีโอที ได้เชิญนักเรียน ครู อาจารย์ จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กทม. และโรงเรียนสามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนในโครงการ TOT Young Club ของทีโอที ที่มีความสนใจด้านอวกาศ และมีทักษะความสนใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้ในการทดสอบอุปกรณ์ รวมถึงรองรับการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมของระบบที่จะใช้ในการทดสอบส่งไปยังชั้นอวกาศ ในโครงการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ (Space Program) ของทีโอที
นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีอวกาศเริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายภาคส่วน ยิ่งยุคนี้ที่เป็นยุคไร้พรมแดน ทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมด ทีโอที ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ได้พยายามหารูปแบบในการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพบริการแก่ลูกค้า โดยกำหนดเป็นแผนงานสำคัญในการทำธุรกิจขององค์กรในการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์เรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศผ่านการเขียนโปรแกรม เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมทางอวกาศของระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำกับอุปกรณ์ของทีโอที ที่จะส่งทดสอบไปยังชั้นอวกาศ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจเสริมสร้างความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ ให้แก่นักเรียน เพื่อต่อยอดในการศึกษาและพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ทีโอที ได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศ (Space Program) ร่วมกับพันธมิตรในการดำเนินโครงการอย่างมีศักยภาพ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะเป็นช่องทางการบริการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ก่อให้เกิดผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้านอวกาศจะมีศักยภาพสูงในหลายด้าน เช่น ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ จะทำได้ง่ายกว่าภาคพื้นดิน ด้วยคุณสมบัติที่ได้เปรียบของดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายลดลง ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้าง Internet Data Center และ IoT platform บนวงโคจรในอนาคตข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้ ทีโอที อยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษา วิเคราะห์รูปแบบ และแนวทางเพื่อจะดำเนินการทดลองส่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ IDC ขึ้นสู่ระดับ Sub-Orbital ไปกับกระสวยอวกาศของบริษัท Blue Origin ประเทศสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้