เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงใหม่-วัดเก่าเชียงใหม่รับผิดพลาดอ้างบูรณะประตูวิหารลายรดน้ำอายุกว่าร้อยปีด้วยการทาสีทับ ตามศรัทธาญาติโยมดำเนินการให้ เตรียมเรียกช่างมาแก้ไขให้เหมือนเดิม ขณะที่ จนท.ศิลปากรเตรีมตรวจสอบประเมินความเสียหายและหาทางฟื้นฟู
หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ทีผ่านมาผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “คำโขก คำปรุง” โพสต์ภาพพร้อมบอกเล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจเกี่ยวการบูรณะวิหารวัดหมื่นล้าน ซึ่งเป็นวัดเก่า ในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏว่าการซ่อมแซมประตูวิหารที่เป็นไม้เก่าและมีภาพลายรดน้ำงดงามอายุกว่าร้อยปี ทางวัดกลับทำโดยการทาสีทับและบอกว่าลอกลายไว้แล้วเตรียมเขียนใหม่บนประตูบานเดิม ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีการดังกล่าวสร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้กับผู้โพสต์ โดยมีผู้แชร์โพสต์นี้และเข้า ไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตำหนิวิธีการบูรณะของทางวัด และมองว่าเป็นการทำลายมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ล้ำค่า เพราะมีทางเลือกที่ดีกว่าเพียงลอกลายบนประตูนำไปเขียนลงประตูบานใหม่ที่ทำขึ้นให้เหมือนเดิมแล้วนำไปใส่แทน ส่วนบานเก่านำไปเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสม
ล่าสุดวันนี้(27ก.ค.63) จากการสังเกตการณ์ ที่วัดหมื่นล้าน ถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองเชียงใหม่ วิหารของวัด ที่อยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ได้หยุดดำเนินการชั่วคราว แต่ภายในวิหารที่มีการรื้อถอนและปรับปรุง ยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่างวางอยู่ โดยที่ประตูวิหารซึ่งถูกท้วงติงเกี่ยวกับวิธีการบูรณะที่ไม่เหมาะสมนั้นพบว่าถูกทาสีทับไปหมดแล้ว แต่ผนังและเสาวิหาร ยังมีลวดลายอยู่ ขณะที่จากการสอบถามพระสงฆ์ในวัดบอกว่า วิหารแห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี รวมทั้งประตูวิหารด้วย
ซึ่งการบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวิหารของวัดนั้น ดำเนินการมาแล้วร่วมปีเนื่องจากศรัทธาญาติโยมเห็นว่าวิหารชำรุดทรุดโทรมจึงได้ระดมเงินและก็ช่วยกันหาช่างมาดำเนินการ ซึ่งทางวัดไม่ได้ขัดข้อง จนกระทั่งล่าสุดมาทราบ ว่าถูกท้วงติงเกี่ยวกับการบูรณะประตูวิหาร จึงได้หยุดดำเนินการและกำลังหาวิธีการแก้ไข โดยที่ทางศรัทธาวัดจะหาช่างมาทำประตูวิหารบานเก่าให้เป็น เหมือนเดิม พร้อมบอกว่าวิหารหลังนี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรไว้แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ทางวัดไม่ปฏิเสธความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจากนี้คงจะต้องปรึกษากรมศิลปากรด้วยว่าจะฟื้นฟูอย่างไร
ขณะที่นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบ เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นแล้ว และในวันที่ 29ก.ค.63 จะนำคณะลงพื้นที่วัดเพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า บานประตูลายรดน้ำโบราณสมัยรัชกาลที่6 ดังกล่าวนั้น ทางวัดเพียงทางสีทับลงไปเลยเท่านั้น หรือว่ามีการขัดสี
ซึ่งหากเพียงทาสีทับยังพอจะสามารถฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงกับก่อนที่จะมีการทาสีได้ โดยจะต้องประสนงานกับกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร ให้เข้ามาช่วยดำเนินการ อย่างไรก็ตามต้องดูรายละเอียด จากการลงพื้นที่จริงอีกครั้งหนึ่งจึงจะสามารถประเมินได้ ทั้งนี้วิหารดังกล่าว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้กับทางกรมศิลปากร แล้วเป็นไปได้ว่าทางวัดน่าจะดำเนินการไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์