เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงใหม่-อาจารย์ศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มช.สุดเศร้าวัดเก่าเชียงใหม่สุดมักง่ายบูรณะประตูวิหารลายรดน้ำโบราณด้วยการทาสีทับ หวังไม่มีการขูดลายออกก่อนเพราะยังพอมีทางฟื้นฟูซ่อมแซม ชี้ฝีมือและเส้นพู่กันร้อยปีทำใหม่ยังไงก็ไม่เหมือน
ความคืบหน้ากรณีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “คำโขก คำปรุง” โพสต์ภาพพร้อมบอกเล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจเกี่ยวการบูรณะวิหารวัดหมื่นล้าน ซึ่งเป็นวัดเก่า ในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ปรากฏว่าการซ่อมแซมประตูวิหารที่เป็นไม้เก่าและมีภาพลายรดน้ำงดงามอายุกว่าร้อยปี ทางวัดกลับทำโดยการทาสีทับและบอกว่าลอกลายไว้แล้วเตรียมเขียนใหม่บนประตูบานเดิม ซึ่งการบูรณะด้วยวิธีการดังกล่าวสร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากให้กับผู้โพสต์ โดยมีผู้แชร์โพสต์นี้และเข้า ไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตำหนิวิธีการบูรณะของทางวัด และมองว่าเป็นการทำลายมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ล้ำค่า เพราะมีทางเลือกที่ดีกว่าเพียงลอกลายบนประตูนำไปเขียนลงประตูบานใหม่ที่ทำขึ้นให้เหมือนเดิมแล้วนำไปใส่แทน ส่วนบานเก่านำไปเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสม ขณะที่เบื้องต้นทางวัด ยอมรับความผิดพลาด และเตรียมดำเนินการแก้ไข
วันนี้(27ก.ค.63) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์สาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ตามจารึกระบุว่าประตูวิหารลายรดน้ำของวัดหมื่นล้าน มีสร้างสร้างและเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2460 ซึ่งถือว่าเป็นของเก่ามีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ในการซ่อมแซมของทางวัดที่มีการทาสีทับไปแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้องและต้องหาทางแก้ไขนั้น เบื้องต้นจะต้องตรวจสอบดูว่ามีการขูดขัดลวดลายเดิมบนประตูออกไปหรือไม่ โดยหากเพียงทาสีทับเท่านั้น อาจยังพอมีวิธีการเอาสีที่ทาทับออกและฟื้นฟูลายเดิมคืนมาให้สภาพใกล้เคียงกับก่อนหน้าทาสีทับมากที่สุด เพราะลายใหม่สามารถเขียนเมื่อไรก็ได้ แต่ฝีมือช่างและลายเดิมที่เป็นเส้นพู่กันเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะการเขียนใหม่ได้เพียงรูปทรงคร่าวๆ เท่านั้น แต่ลายเส้นและฝีมือไม่มีทางเหมือนเดิม พร้อมกันนี้มองว่าแทนที่จะทาสีทับประตูเดิม ควรจะถอดเก็บรักษาและทำบานใหม่แทนดีกว่า ซึ่งครั้งนี้ควรเป็นกรณีศึกษาในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมตามวัดเก่าแก่ต่างๆ