คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
ในโอกาสที่อลิตา เดอ ฟรานต์ซ อดีตนักกีฬาเรือพายโอลิมปิก ทีมชาติสหรัฐฯ ได้รับเลือกให้กลับเข้ามารับตำแหน่งรองประธานหมายเลข 1 ของไอโอซีอีกครั้ง
หลังเคยเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งรองประธานไอโอซีมาแล้ว 1 สมัย เมื่อปี 1997-2001
เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากโธมัส บาค ประธานไอโอซี ในการร่วมประชุมบอร์ดบริหารไอโอซีครั้งแรกของเธอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เดอ ฟรานต์ซ และบาค จะได้มีโอกาสร่วมงานกัน หลังทั้งคู่เคยมีประสบการณ์ร่วมกัน ในการยืนหยัดต่อสู้คัดค้านมาตรการคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิก “มอสโก 1980” ในฐานะนักกีฬาเมื่อ 40 ปีก่อน มาแล้ว
“ชีวิตของฉันเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสและทำให้แน่ใจว่า ผู้ที่โดนกีดกันโอกาสอย่างไม่เป็นธรรมจะสามารถได้รับโอกาสนั้น” อดีตนักกีฬาเรือพายเหรียญทองแดงโอลิมปิก “มอนทรีออล 1976” เปิดใจ หลังเธอเคยพลาดโอกาสลงล่าเหรียญรางวัลใน “มอสโก 1980” เนื่องจากสหรัฐฯตัดสินใจบอยคอตการแข่งขัน เพื่อประท้วงการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต
“ปี 1980 เปลี่ยนแปลงชีวิตฉันไปหลายมิติอย่างชัดเจน ฉันไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะได้เป็นไอโอซีเมมเบอร์ แต่หนทางที่ฉันเลือกได้นำฉันไปสู่โอกาสนั้น” เธออธิบาย “สำหรับฉันแล้ว การได้ทำงานเคียงข้างนักกีฬาอีกคนที่เคยถูกปฏิเสธโอกาสลงแข่งโอลิมปิกเหมือนกัน มันมีความหมายมาก มันหมายความว่า เราจะไม่ปล่อยให้นักกีฬาถูกปฏิเสธโอกาสนั้น อีกครั้ง”
ต้องถือว่า เดอ ฟรานต์ซ คล้ายกับโธมัส บาค อดีตนักกีฬาฟันดาบทีมชาติเยอรมันตะวันตกในยุคนั้น ที่เคยเป็นแกนนำในการประท้วงต่อต้านมาตรการคว่ำบาตร “มอสโก 1980”
และพยายามทำให้ผู้มีอำนาจในประเทศเข้าใจถึงหัวอกนักกีฬาในการไล่ล่าความฝันลงแข่งขันโอลิมปิก แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
การต่อสู้ของเดอ ฟรานต์ซ ทำให้ที่ประชุม ไอโอซี เซสชัน ปี 1980 ในกรุงมอสโก ตัดสินใจมอบเครื่องอิสริยาภรณ์โอลิมปิกให้กับเธอในฐานะผู้สนับสนุนกระบวนการโอลิมปิก
สำหรับประวัติการทำงานกับไอโอซี เธอได้รับเลือกเป็นเมมเบอร์ในปี 1986 และเข้าร่วมบอร์ดบริหารไอโอซี ครั้งแรกปี 1992 เธอเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการสตรีและกีฬา นาน 10 ปี ระหว่างปี 1995-2014 และเป็นสตรีอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกันคนแรก ที่ได้นั่งเก้าอี้รองประธานไอโอซี ในปี 1997
“ไอโอซี มีวิวัฒนาการมากมายในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ฉันคือสตรีคนที่ 5 ที่ได้รับเลือกสู่ไอโอซี และตอนนี้เรามีสตรีแล้ว 39 คน จากสมาชิกทั้งหมด 104 คน ที่มากไปกว่านั้น ทั่วโลกเข้าใจแล้วว่า เราต้องเคารพทุกคน ซึ่งนี่คือเวลาอันยิ่งใหญ่ ที่จะสามารถรับใช้กระบวนการโอลิมปิก ที่มีนโยบายไม่แบ่งแยกกีดกันเป็นหนึ่งในเสาหลักรากฐานขององค์กร” เธอเล่าย้อนประสบการณ์ที่ผ่านมา
พร้อมกับมองไปข้างหน้าด้วยมุมมองเชิงบวก
และแน่นอน 1 ใน 39 สตรี ที่ร่วมงานกับไอโอซี องค์กรกีฬาใหญ่ที่สุดของโลก เป็น คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ของไทย ที่ทำงานด้านกีฬามาอย่างหนักและต่อเนื่องกว่า 3 ปีแล้ว
โดยปัจจุบัน คุณหญิงปัทมาเป็นประธานกรรมาธิการวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก และเป็นกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศของไอโอซีด้วย
นี่ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งของสตรีกับกีฬา ที่ไอโอซี เปิดพื้นที่ให้อยู่เสมอ ทำให้ตอนนี้สัดส่วนผู้บริหารสตรีในองค์กรกีฬาใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 สตรีในไอโอซีจะมีเพียง 21.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ตอนนี้ตัวเลขขยับสูง
มีมากถึง 37.9 เปอร์เซ็นต์ เข้าให้แล้ว…
ฟ้าคำราม