nn ต้องยอมรับว่าวันนี้เราอยู่ใน “โลกยุคดิจิทัล” ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างรวดเร็ว และมีผลในการเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกหน่วยสังคม ประกอบกับรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ในการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นสังคมไทยนอกจากจะต้องลงทุนเพื่อสร้างเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนเพื่อ “สร้างคน”ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นก็สำคัญมากเช่นกัน…และการสร้างคนที่ว่านี้จึงต้องมุ่งเน้นไปที่ การพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้พัฒนาไปสู่ผู้สร้างสรรค์และริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ในหลากหลายมิติ ทั้งเพื่อการแก้ปัญหาสังคม พัฒนา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายออกไปในวงกว้าง การพึ่งพากำลังจากภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่ทันการณ์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่หลายองค์กรต่างตื่นตัวกับเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ หรือแม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และดำเนินการโครงการที่ประโยชน์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมของภาคการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์พร้อมเข้าใจถึงบริบทการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวคิดสร้างสรรค์เชิงวิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์และออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเยาวชนรวมตัวกันคิดค้นและประดิษฐ์ จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ภายใต้โครงการ GPSC Young Social
Innovator ที่จัดขึ้นโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และ กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 3 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถส่งโครงงานเข้ามาประกวดภายใต้แนวคิด “ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ รวมถึงกระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment) ซึ่งในปีนี้มีโรงเรียนต่างๆส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 158 โรงเรียน และได้ประกาศผลชนะเลิศและรางวัลชมเชย รวม 5 รางวัล ไปเมื่อเร็วๆนี้
สำหรับผลงานที่ชนะเลิศภายใต้ชื่อ โครงงาน พัฒนาเเบตเตอรี่ โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว โดยนางสาวกนก ศิริลัภยานนท์ หรือ น้องเต้ย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึงแนวคิดในการทำโครงงานครั้งนี้ว่า เป็นการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะข้าวเหนียว มาพัฒนาเป็นขั้วแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้นาน ให้มีความจุไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งขั้วแบตเตอรี่ ถือเป็นส่วนสำคัญของแบตเตอรี่ จึงมีการออกแบบ เพื่อให้ขั้วแบตเตอรี่ สามารถกักสารลิเทียมซัลไฟต์ภายในขั้วไฟฟ้าให้นานที่สุด เพื่อรักษาประสิทธิภาพการคลายประจุ และเพิ่มอายุการใช้งาน ด้วยคุณสมบัติของข้าวเหนียวที่มีสารคาร์บอนสูง สามารถดูดซับสารลิเทียมซัลไฟต์ โดยการผลิตถ่านกัมมันต์ที่มีรูพรุนสูง และอาบรังสี เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีในแบตเตอรี่ สามารถนำไปพัฒนาเป็นขั้วแบตเตอรี่ มีประสิทธิภาพการจ่ายไฟได้นาน 3-4 เท่า โครงงานดังกล่าวได้ทำการวิจัยและพัฒนาเป็นเวลา 2 ปี จนสามารถพัฒนามาเป็น แบตเตอรี่เม็ดกระดุม ต่อไปในอนาคตจะพัฒนาเป็นพาวเวอร์แบงก์ เพื่อรองรับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ และยังได้เพิ่มมูลค่าของข้าวเหนียวให้กับเกษตรกรไทยอีกด้วย
ในส่วนของทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วยผลงานนวัตกรรมแคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า โดย นางสาวเมธาพร ลาหู่ และนางสาววริศรา เดชผิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี ได้อธิบายถึงที่มาของการพัฒนาโครงงานและแนวคิด มาจากเห็นว่าชุมชนในท้องถิ่นประสบปัญหาต้นกล้าที่ปลูกไว้ขาดน้ำแห้งตายจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยนำวัสดุและวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาทำให้มีคุณค่า เช่น กาบมะพร้าว กระถางต้นไม้ มูลกระบือ ยางพารา และแป้งเปียก มาอัดขึ้นรูปเป็นกระถางแคปซูล โดยนำไปอบเพื่อให้สามารถมีความคงทน และแข็งแรง สามารถย่อยสลายได้ในดิน แบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่างใส่น้ำเพื่อกักเก็บน้ำ เพื่อเลี้ยงต้นอ่อน และราก ส่วนชั้นบน เป็นการนำดินผสมเครื่องปลูกทั้งหมด ทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตในช่วงหน้าแล้ง ลดการสูญเสียต้นกล้าที่เพาะปลูก โดยแคปซูลดังกล่าวมีต้นทุนเพียงชิ้นละ 20 บาท ซึ่งได้มีการทดลองใช้ในชุมชน ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพกระถางแคปซูล ทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดที่สูง เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วยังประหยัดน้ำ และปุ๋ย อีกด้วย โดยปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของชุมชน ซึ่งจะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนต่อไป จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้หน่วยงานต่างๆ สนใจที่จะนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดทางด้านการเกษตรต่อไป
อีกผลงานที่น่าสนใจที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต และรักษาคุณภาพของผลผลิตให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกผลไม้ ด้วยปลอกเทียมห่อผลไม้ จากทีม Fruit Guard ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่ง นางสาวผกาพรรณ ไชยวงษ์ ตัวแทนของกลุ่ม ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการนี้ว่า ด้วยพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่เกษตร ที่มีการเพาะปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากที่ผ่านเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องศัตรูพืช โดยเฉพาะแมลงวันทอง เป็นตัวทำลายผลผลิต ทำให้เกิดความสูญเสียผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ของเกษตรกรนิยมใช้ถุงพลาสติกห่อผลมะม่วง ทำให้ต้นทุนการผลิตผลมะม่วงเพิ่มสูงขึ้น และเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาการนำวัสดุทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น กาบกล้วย คล้าน้ำ หญ้า มาผสมปั่นรวม โดยนำวุ้นน้ำหมักไปกวนผสม เพื่อให้เกิดการยึดตัวของวัสดุทางธรรมชาติ ขึ้นรูปเป็นปลอกเทียมห่อผลไม้ ทั้งนี้หลังจากผลิตเสร็จได้นำตัวอย่างผลงานให้เกษตรกรทดลองใช้ พบว่าได้ผลดี สามารถป้องกันแมลงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และย่อยสลายด้วยตัวเอง มีประสิทธิภาพการใช้งานได้ 2 ฤดูกาล โดยต้นทุน ของปลอกเทียม อยู่ 1.50 บาทต่อถุง ทั้งนี้ยังได้ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการทำคิวอาร์โค้ด เพื่อบอกที่มาของแหล่งปลูกมะม่วง ติดบนผลิตภัณฑ์ และพร้อมที่จะพัฒนาต่อเนื่องต่อไปให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อใช้งานได้ในผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆอีกด้วย
“GPSC ในฐานะเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า ให้ความสำคัญและสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรม และเยาวชนถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศเรา ที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากไอเดียของเยาวชนที่ประดิษฐ์ขึ้นและสอดคล้องกับพื้นที่ที่เยาวชนอาศัย ซึ่งบริษัทพร้อมสานต่อในความคิดนี้และได้ร่วมกันแชร์หรือแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ต่างๆเหล่านี้ให้ขยายออกไป เพื่อยกระดับด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศเราต่อไป” นายชวลิต ทิพพาวนิช ซีอีโอ GPSC กล่าว
กระบองเพชร