ผลการสำรวจล่าสุดโดย “เอชพี อิงค์” ในหัวข้อ “การอยู่รอดเพื่อการฟื้นฟูหลังโรคระบาด” กับธุรกิจเอสเอ็มบีจำนวน 1,600 ราย ใน 8 ประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย พบว่า เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 50% คาดหวังว่าธุรกิจของพวกเขาจะสามารถอยู่รอด พร้อมเติบโตได้หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ลิม ชุน เต็ก กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูธุรกิจ เอสเอ็มบี 60% แสดงความเห็นว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมแนวคิดนวัตกรรมต่อกระบวนการทำงาน สร้างรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น อีกทั้งปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
อย่างไรก็ดี ต่างมีความกังวลเรื่องการบริหารกระแสเงินสดและความไม่ชัดเจนว่าโซลูชั่นแบบใดที่เหมาะสมและจะหาได้จากที่ใด จากการสำรวจมีเอสเอ็มบีเพียง 4 ใน 10เท่านั้นที่มีแผนกหรือบุคคลที่รับผิดชอบในด้านนวัตกรรมแล้ว
“เอสเอ็มบีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย การระบาดใหญ่นี้ทำให้ธุรกิจได้ส่งผลกระทบอย่างหนัก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้อยู่รอดเพื่อฟื้นธุรกิจของพวกเขา”
ปรับแผน ลดเป้าเติบโต
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า บริษัทที่มีความมั่นใจสูงสุดว่าจะกลับมายืนหยัดได้ให้ความสำคัญต่อการใช้ดิจิทัล โดยเกือบ 60% เห็นว่าการใช้ดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น 74% ของเอสเอ็มบีจากอินโดนีเซีย ตอบสนองเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด โดย 74% ระบุว่าเป็นสิ่งจำเป็นหรือสำคัญมาก ส่วนเจ้าของธุรกิจในไทยที่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวมี 65%
นอกจากนี้ มีการปรับแผนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญหลังการระบาดใหญ่ ก่อนการระบาดใหญ่ 46% คาดการณ์ว่าธุรกิจจะเติบโต แต่ภายหลังกลับลดลงเหลือ 16% โดยเอสเอ็มบีในประเทศอินเดียและเวียดนามยังมีความเชื่อมั่นมากที่สุดว่าจะยังเติบโตหลังการระบาดใหญ่ ส่วนในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความเชื่อมั่นในเชิงบวกน้อยกว่า
เขากล่าวว่า การที่ผลผลิตถูกกระทบเป็นประสบการณ์ที่แทบทุกรายต้องเผชิญ ช่วงโรคระบาดมีเอสเอ็มบีเพียง 6% เท่านั้นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่43% ทำงานได้ผลผลิตลดลง
ที่น่าสนใจ การระบาดใหญ่ครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างด้านความคิด เกี่ยวกับการใช้ทักษะดิจิทัลภายในองค์กร ซึ่งกำลังสร้างอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยมีเอสเอ็มบีกว่า 44% ได้รับผลกระทบนี้
ขณะเดียวกัน เอสเอ็มบีขาดความชัดเจนว่าจะมองหาความช่วยเหลือได้จากที่ใด 31% ต้องการการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ขณะที่ 60% ระบุว่าการสนับสนุนของรัฐบาลไม่เพียงพอและไม่ชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลืออะไรบ้าง มีเพียง 19% เท่านั้นที่หันไปขอความช่วยเหลือจากบริษัทไอที
สำหรับประเทศไทยพบว่า 65% ของเอสเอ็มบีเชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะอยู่รอดได้ โดย 65% มีความมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้หลังโควิด ธุรกิจเอสเอ็มบีในไทยยังแสดงถึงการคาดการณ์การเติบโตในปีหน้าซึ่งเป็นไปในทางบวก โดยคาดว่าจะเติบโต 11% ขณะที่ 40% เชื่อว่าการนำดิจิทัลมาใช้มีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ
เมื่อพูดถึงกลยุทธ์การฟื้นตัวในสามอันดับแรก เอสเอ็มบีไทยเชื่อว่า กลยุทธ์หลักที่สามารถช่วยธุรกิจของพวกเขาได้แก่ รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น การนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และ คำแนะนำกลยุทธ์ธุรกิจ สำหรับปัจจัยที่พวกเขาคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ พวกเขาพิจารณาในเรื่องของการตลาดที่ตอบโจทย์ กระแสเงินสด และการสรรหาบุคลากร
“ประเทศไทยสามารถจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ผมได้เห็นด้วยว่าเอสเอ็มบีในไทยมีความมั่นใจว่าจะสามารถฟื้นตัวและอยู่รอดหลังจากสถานการณ์นี้โดยรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูแผนธุรกิจ”
อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ “ความสามารถด้านดิจิทัล” เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเอสเอ็มบีปรับตัว ทว่าธุรกิจเอสเอ็มบีส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดให้เป็นหัวใจหลักที่จะลงทุนทรัพยากรในด้านนี้ และโดยทั่วไปจะทำเพียงแต่สนองความต้องการของลูกค้า หรือทำตามสิ่งที่คู่แข่งทำไว้ ที่ผ่านมามีธุรกิจเอสเอ็มบีเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้นที่มีความสามารถในการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น เพิ่มช่องทางการขาย และซัพพลายเชนใหม่ๆ หรือต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ
สำหรับเอชพี แนวทางธุรกิจมุ่งปลดล็อคนวัตกรรมที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ยึดลูกค้าและพนักงานเป็นศูนย์กลาง ช่วยธุรกิจเพิ่มศักยภาพ ทักษะ รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต