29 กรกฎาคม 2563
| โดย ชญานิษฐ์ นกแก้ว
522
สวทช.เสริมแกร่งผู้ประกอบการหลังยุคโควิด ย้ำชัดต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลและเน็กซ์นอร์มอล ควบคู่กับความต้องการในสังคมผู้สูงอายุ ฉายภาพธุรกิจที่อยู่รอด-เติบโตล้วนพึ่งพาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และไม่ยึดติดกับพื้นที่
เมื่อวิกฤติการณ์โควิด-19 ช่วยเร่งการปฏิวัติทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคให้ย้ายฐานสู่โลกดิจิทัล รูปแบบธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นและสุขอนามัยเป็นสำคัญ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) และ Fablab Thailand จึงเปิดเวทีสัมมนาภายใต้โครงการชนชราแห่งอนาคต “The Global Reset : โลกเปลี่ยน เราปรับ”
เพื่อนำเสนอแนวโน้มใหม่สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้วิถีแบบ New Normal และ Next Normal ให้รองรับและอำนวยความสะดวกต่อวิถีชีวิตของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลให้แก่ผู้ประกอบการไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์
หนุนเอสเอ็มอีทำนวัตกรรม
ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสไอแทปและหัวหน้าโครงการชนชราแห่งอนาคต (New Aged Citizens) กล่าวว่า โครงการฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และคนไทยถือหุ้นมากกว่า 50% ผ่านการนำโอกาสความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงอายุมาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือบริการบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
“เนื่องจากเป็นวิถีหลังโควิด-19 จึงจะส่งเสริมการพัฒนาบริการที่จะช่วยผู้ประกอบการปั้นสิ่งใหม่ หรือนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่าเพื่อต่อยอดธุรกิจในช่วงโรคระบาดนี้ ผ่านการสัมมนาหลากหลายหัวข้อทั้งด้านแพลตฟอร์ม วัสดุ บริการและการอภิปรายจากผู้ประกอบการรุ่นที่ผ่านมา พร้อมทั้งตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะเวลาปี 2563-2564 ไว้ที่ 10 บริษัท ขณะที่ในงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8 บริษัท”
ด้านกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แชสซีพลัสอินฟิล จำกัด (FabLab Thailand) กล่าวว่า ประเทศไทยเตรียมตัวค่อนข้างช้าเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่รองรับเกิดภาวการณ์หลายๆ อย่าง อาทิ ในช่วงโควิดที่ระบบรถสาธารณะบริการไม่ทั่วถึง และเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2561 มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และปี 2564 เพิ่มเป็น 20% ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมรับมือเพื่อรองรับวิถีใหม่หลังยุคโควิด ในขณะเดียวกันจะต้องสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
“โครงการชนชราแห่งอนาคต” เป็นการสนับสนุนจากทางฝั่งรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการทำวิจัยและพัฒนา โดยรัฐช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีโอกาสแปลงแนวคิดและข้อมูลที่มีสู่ต้นแบบ เพื่อนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเห็นประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ผ่านการคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐาน 2 แง่มุมคือการพลิกระบบใหม่หลังยุคโควิด และตอบโจทย์สังคมสูงวัยด้วยเช่นกัน
“การดำเนินโครงการฯ จึงเน้นด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้เชื่อมต่อตลาดสุขภาพและวิถีชีวิต โดยนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) เข้ามาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถส่งต่อข้อมูลสู่การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปรับปรุงบริการต่อไปได้ อาทิ “อาเดลีบัดดี้” บริการลูกหลานเฉพาะกิจ พาผู้สูงวัยไปทำธุระ หรือไปเที่ยวสบายๆ ใน 1 วัน สร้างรายได้จากการช่วยเหลือผู้สูงวัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยเช่นกัน”
กัลยา กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โควิดไม่ได้ทำให้ภาคธุรกิจถดถอย แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มที่ปรับตัวไม่ทัน ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทได้รับผลกระทบคือเป็นบริษัทที่ผูกติดกับพื้นที่ มีค่าใช้จ่ายสูงและจำนวนพนักงานมาก ในทางกลับกันก็มีธุรกิจที่เติบโตในช่วงโควิดนี้ 80% อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม และส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภายในครัวเรือน ธุรกิจสื่อสารและกลุ่ม health and Well-Being
รับตลาดใหม่ยุคนิวนอร์มอล
ดังนั้น จึงต้องมีการผลักดันให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับต้องมอง 2 ด้านว่าหากไปต่อไม่ได้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจหรือเสริมแกร่งอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดในโลกหลังยุคโควิด
นอกจากนี้ กลุ่มตลาดงานอีเว้นท์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เนื่องจากต้องหลีกเลี่ยงจากสถานที่มีคนจำนวนมาก ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค ตามมาตรการของภาครัฐ ซึ่ง บริษัทอีเว้นท์ ป็อป จำกัด (eventpop) สตาร์ทอัพจัดงานอีเว้นท์ของไทย จากเดิมที่จัดงานขนาดใหญ่ ก็ได้นำเสนอรูปแบบใหม่ Online Event ช่องทางที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้จัดงานสามารถดำเนินงานได้อย่างปกติ แม้ในสถานการณ์ที่ลูกค้าไม่อยากออกนอกบ้าน
จึงทำให้ที่ผ่านมาได้ให้บริการช่วยเหลือผู้จัดงานอีเว้นท์หลากหลายประเภทกว่า 8,000 ราย ไม่ว่าจะเป็น คอร์สเรียนออนไลน์ งานสัมมนาและเวิร์คช็อปออนไลน์ การไลฟ์สตรีมมิ่งเกม จะเห็นได้ว่าเมื่อโควิด-19 เข้ามาทำให้โครงสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ เดินหน้าได้เร็วขึ้นและเกือบ 90% ขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะรีบพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล และสิ่งที่พัฒนานี้จะสามารถต่อยอดสู่ความต้องการของสังคมสูงวัยได้อีกด้วย
VR/AR ลดเสี่ยงธุรกิจอสังหาฯ
สุชาดา เกษมทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและสถาปนิกบริษัท สุขสบาย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 คาดว่าจะยิ่งมีผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติเลือกมาอยู่ที่ประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ
“การดำเนินธุรกิจในช่วงหลังโควิด มีแพลนจะร่วมกับ VRLookAround นำเทคโนโลยีเสมือนจริง VR และ AR มาช่วยสนับสนุน เพียงใช้โปรแกรมบนสมาร์ทโฟน ข้อมูลจะส่งต่อไปยังแพลตฟอร์ม จากนั้นสถาปนิกจะตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ เพื่อลดการทำงานของสถาปนิก อีกทั้งนำเทคโนโลยีมาเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”