สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMECN) ลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกริก จัดหลักสูตร “นักพัฒนาธุรกิจการค้า” เพื่อร่วมมือกันผลักดันหลักสูตรที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบ SMEs หรือนักธุรกิจ นักลงทุน นักการค้า กลไกสำคัญในการพัฒนาธุรกิจไทยให้เข้มแข็งหลังวิกฤตโควิด 19
ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เปิดเผยว่า การที่สมาคมฯ คิดริเริ่มหลักสูตรขึ้นมาถือว่าเป็นความพยายามที่จะให้การศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะทางมหาวิทยาลัยเกริกก็เน้นเป็นพิเศษในเรื่องการบริหารจัดการ SMEs จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการบริหารจัดการหลักสูตรร่วมกัน เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมหลักสูตรนักพัฒนาธุรกิจการค้าให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทางมหาวิทยาลัยฯ เองก็มีหน้าที่สนับสนุนวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยฯ ก็มีอะไรที่แตกต่างที่จะสนับสนุนหลักสูตรฯ โดยมีคณะบริหารธุรกิจซึ่งเราก็จะมีคนเก่ง คนดี ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
“หลังโควิดอะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลง การศึกษาก็เหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ได้ทิ้งหลักการให้การศึกษา เรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อทำได้ เรียนเพื่อจะเป็น อย่างสถานการณ์ตอนนี้ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่าหลักสูตรนี้มีประโยชน์ในยุคปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงสนับสนุนหลักสูตรที่ไม่ต้องใช้คุรุสภา การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาที่เน้นความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทันสมัย ทันสถานการณ์ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการเรียนรู้ที่รวดเร็ว สั้น ๆ กะทัดรัด ชัดเจน หลักสูตรนี้ได้เตรียมพร้อมและพิสูจน์มาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่เสริมให้ตัดสินใจได้เร็ว ดั้งคำสอนที่ว่า “ผู้นำต้องสร้างผู้นำ” สิ่งที่จะทำได้คือคอยสนับสนุนให้คำแนะนำทำให้หลักสูตรแข็งแรงและมีภาพพจน์ที่สวยงาม รวมถึงการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกริก ที่เป็นไปตามหลักวิชาการ อาทิ ห้องเรียน เครื่องมือการศึกษา ห้องสมุด ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์กับการศึกษาร่วมกัน เพราะเป็นที่มหาวิทยาลัยฯ มีอาจารย์จีน จากยุโรป อเมริกา ไต้หวัน ที่สามารถเชิญมาร่วมบรรยายในหลักสูตรฯ และทางจีนเองก็น่าจะยินดีที่ได้เราเป็นเครือข่าย ธุรกิจร่วมกับประเทศจีน” ศ.ดร.นพ.กระแส กล่าว
ทางด้าน ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจการค้าแห่งมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงการเปิดรับนักศึกษาใหม่ รุ่นที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจการค้าแห่งมหาวิทยาลัยเกริก หน่วยงานนี้ถือก็เป็นสถาบันหนึ่งภายใต้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกริก ทำหน้าที่ให้ความรู้ถ่ายทอดความรู้และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME หรือนักธุรกิจ นักลงทุน นักการค้า ในเรื่องของการช่วยเหลือข้อแนะนำต่าง ๆ ทั้งเรื่องการให้คำปรึกษาเรื่องการขาย การตลาด การลงทุน การเงิน ฯลฯ สำหรับรายละเอียดหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์กับนักธุรกิจการค้าหรือผู้ประกอบการ SME โดยการสนับสนุนจากเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย หลักสูตรนี้มีชื่อว่าหลักสูตร “นักพัฒนาธุรกิจการค้ารุ่นที่ 1”
ความเป็นมาของหลักสูตรนี้เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสไปจัดการเรียนการสอน ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกี่ยวกับเรื่องการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ DBD จะทราบกันดีว่า จะรับจดทะเบียนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือ หจก. แต่เมื่อประชาชนที่มาจดทะเบียนหรือว่าผู้ประกอบการมาจดทะเบียนการค้านิติบุคคลแล้วก็อาจมีคำถามกับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า จะขอสินเชื่อได้ที่ไหน SME แบงค์ อยู่ตรงไหน การขอสินเชื่อต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง การลงทุนเป็นอย่างไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถตอบกับประชาชน จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประมาณ 2 รุ่น จำนวน 80 ท่าน โดยสอนอาทิตย์ละ 1 วัน และได้ผลตอบรับดี ผู้ที่มาเรียนสามารถนำไปถ่ายทอดความรู้ได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนนี้มีประโยชน์กับการพัฒนาผู้ที่สนใจหรือบุคลากรที่อยากเป็นนักพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นรุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเกริก การเรียนการสอนจะมีเรียนในทุกวันเสาร์ เวลา 13.00-17.00 น. เรียนทั้งหมด 20 ครั้ง เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี หรือกลับไปพัฒนาองค์กรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกริกกับหลักสูตรฯ นี้คือ การเชิญอาจารย์ทางด้านการค้าของจีนมาร่วมบรรยายเสริมหลักสูตรฯ เชื่อว่าจะสามารถช่วยทำให้ทะลุปรุโปร่ง เข้าใจถึงสังคม วัฒนธรรมการค้าแบบจีนได้อย่างชัดเจน ในหลักสูตรนี้จะเรียนในห้องเรียน 17 ครั้ง 17 วิชาหลักที่จะต้องได้เรียน อาทิ เรื่องลดต้นทุน ลดของเสีย หรือการตลาดออนไลน์ เรื่องของบริหารงานบุคคล โอกาสทางธุรกิจ สินเชื่อ ภาษีอากร และบัญชีการเงิน เป็นต้น
“การทำธุรกิจไม่เสียภาษีไม่ได้ แต่เสียภาษีอย่างไรให้ถูกต้องและจ่ายน้อยที่สุด ในหลักสูตรนี้จะมาถ่ายทอดความรู้โดยวิทยากรชั้นนำที่ถือเป็นกูรูมากประสบการณ์ในแต่ละแขนง ผ่านการเสวนาใหญ่ 3 ครั้ง โดยกูรูแต่ละด้านเพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ เช่นโอกาสการค้าไทย-จีน รวมถึงการศึกษาดูงานในต่างประเทศ อาจจะเป็นโรงงานที่ไม่เคยเปิดให้ใครดูมาก่อน แต่ทุกท่านเคยทานและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์นั้น รวมถึงการศึกษาด้านนวัตกรรม โลจิสติกส์ ระบบ DC การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดให้คนภายนอกเข้าไปดูงาน ถือเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการ” ดร.วิริยะ กล่าวทิ้งท้าย