nn เว็บไซต์ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เผยแพร่รายละเอียดโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน โดยระบุว่าปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีระบบสาธารณูปโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร และที่เป็นของหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น อาทิ สายไฟฟ้า สายสื่อสาร ฯลฯ โดยระบบสาธารณูปโภคจำพวกสายสื่อสาร มีจำนวนสายโดยรวมรกรุงรังมากมายมีการต่อสาย และแยกสายสื่อสารอย่างไม่เป็นระเบียบ สายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วยังคงถูกแขวนไว้เสมือนไม่มีมาตรฐานการติดตั้ง ส่งผลต่อภูมิทัศน์จนกลายเป็นทัศนะอุจาดของเมือง ทำให้ภูมิทัศน์ถนนรกรุงรังไม่สวยงาม รวมทั้งมีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงประสิทธิภาพการใช้งานสายสื่อสารทำให้เกิดความสิ้นเปลือง
ไม่คุ้มค่า กรุงเทพมหานคร จึงได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินภารกิจนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว
ขณะที่ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.ยังคงเดินหน้าโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามเจตนารมณ์ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน ถึงการมีอยู่ของท่อร้อยสายสื่อสารทั้งจำนวนท่อร้อยสายสื่อสารว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร ในเส้นทางใดบ้าง และมีสภาพที่สามารถใช้งานได้หรือไม่ ที่สำคัญปัญหาสายสื่อสารไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับอันตรายตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี
ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงได้เสนอโครงการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2561 ซึ่งก็เห็นชอบให้ กทม.ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินดังกล่าว โดย กทม. ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจในกำกับเป็นผู้ดำเนินการ และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2562ได้รับทราบมติบอร์ดดีอี ในการมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่
แน่นอนว่าโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน และประชาชนทั่วไปก็เห็นด้วยที่จะทำให้ภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯสวยงามสมกับคำว่า“กรุงเทพเมืองฟ้าอมร”…แต่อย่างไรก็ตาม ก็อย่างที่เห็นว่าโครงการนำสายไฟฟ้าสายสื่อสารลงท่อใต้ดิน เพิ่งจะทำเสร็จไปเพียงไม่กี่เส้นทางเท่านั้น…อันนี้เพราะเกิดข้อติดขัดในทางปฏิบัติหรือบางคนอาจจะใช้คำว่าล้มเลยก็ว่าได้…ทั้งนี้ทั้งนั้นแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม รายหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงความล้มเหลวในการจัดระเบียบสายสื่อสารในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่า เหตุที่โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินล่าช้า จนยุ่งอีรุงตุงนังนั้น ก็เพราะ กทม. เองที่ขออนุมัติดำเนินโครงการนี้แต่แรก ไม่ได้ดำเนินการลงทุนเองตามที่ขออนุมัติจากบอร์ดดีอี แต่กลับจะ “เซ็งลี้” โครงการออกไปให้บริษัทกรุงเทพธนาคม( KT) และบริษัทสื่อสารรายหนึ่งเข้ามา “กินรวบ” โครงการทั้งหมดไปให้บริการแทนแถมโขกค่าบริการสูงลิบลิ่ว จนถูกผู้ใช้บริการ หรือโอเปอเรเตอร์ที่ต้องถูกบีบให้มาเช่าใช้ท่อร้อยสายร้องแรกแหกกระเชอ และถูก กสทช.กระตุกเบรกหัวทิ่มทำให้โครงการนี้ต้องคาราคาซังมากระทั่งวันนี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด บอร์ดดีอีที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเป็นประธานเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งจะอนุมัติให้บริษัททีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในเขต กทม.และปริมณฑล เพื่อป้องกันการทุจริต ตามรายงานผลศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช.ที่เห็นว่า กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม ไม่มีขีดความสามารถในการลงทุนและบริหารโครงการนี้ เพราะกทม.และกรุงเทพธนาคมยังต้องให้ กสทช. นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสนับสนุนการก่อสร้างให้ แต่ยังคงคิดค่าบริการในอัตราที่สูงโดยไม่ยอมลดค่าบริการให้กับผู้เช่าใช้ แสดงให้เห็นว่า กทม.และกรุงเทพธนาคม ไม่มีขีดความสามารถที่จะบริหารโครงการได้ จึงเห็นว่ากระทรวงดีอีเอส และทีโอที มีความเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดดีอียังมอบหมายให้กระทรวงดีอีเอสและกสทช. ร่วมกับ 2 รัฐวิสาหกิจคือ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันกำหนดแผนก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารและจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศอีกด้วย โดยให้ กสทช.เร่งประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อกำหนดแนวทางในการอนุญาตให้ก่อสร้างท่อร้อยสายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทั่วประเทศ
“มติบอร์ดดีอีชัดเจนซะขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าทั้ง กทม. และ KT ยังจะดันทุรังปลุกผีโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของตนเองออกมากันไปทำไมกันอีก ยังคงคิดว่าขุมทรัพย์ใน กทม. นั้น ใครจะเข้ามาล้วงตับดำเนินการไม่ได้อย่างนั้นหรือ???? หรือยังคงคิดว่าจะดั้นเมฆลงทุนโครงการนี้เพื่อหวังถอนทุน หรือเซ็งลี้โครงการออกไปให้กลุ่มทุนที่จ้องจะผูกปิ่นโตอยู่เบื้องหลัง อย่าลืมว่า ท่อร้อยสายสื่อสารนั้น ถือเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นกิจการที่ภาครัฐ จำเป็นต้องจัดหาให้ประชาชนได้ใช้และเข้าถึงอยู่แล้ว จึงไม่ควรที่จะมีใครเข้ามาชุบมือเปิบดึงโครงการออกไปแสวงหาประโยชน์”
กระบองเพชร