“เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า สมาคมฯ มีแผนเดินหน้าขยายกรอบการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนานักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย ตามนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านกีฬา และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ
หลังจากที่ กีฬาจักรยาน ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย มาจนถึงกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยจากการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายเทคนิคของสมาคมฯ กับ คณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่ และฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
ได้ข้อสรุปว่า คณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จะนำเอาองค์ความรู้สหวิทยาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพนักกีฬามาใช้กับนักปั่นทีมชาติไทย โดยจะเริ่มจากนักปั่นไทยชุดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้แก่ “บีซ” ร้อยเอกหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ และคู่ซ้อม “แพร” สิบตรีหญิง เพชรดารินทร์ สมราช สมทบด้วยทีมอาชีพหญิง “ไทยแลนด์ วีเมนส์ ไซคลิง ทีม” ที่จะเริ่มเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นชุดแรกในเดือน ก.ค.63 ที่ จ.เชียงใหม่
“สำหรับแนวทางการทำงานจะขยายกรอบจากกายภาพบำบัด หรือรักษาอาการบาดเจ็บซึ่งเป็นการปฎิบัติโดยปกติ แต่การทำงานร่วมกันก็จะใช้การวิเคราะห์สมรรถภาพทางกายของนักกีฬา ตั้งแต่เริ่มต้น พัฒนาการ ตลอดจนการแก้ไขข้อบกพร่องแบบเฉพาะเจาะจง
นอกจากนี้ยังจะขยายกรอบไปถึงการคัดเลือก หรือ Identify นักกีฬาจักรยานไทย ตั้งแต่ระดับยุวชนและเยาวชนจากศูนย์ฝึกจักรยานภูมิภาค ขึ้นสู่ระดับสู่ความเป็นเลิศ เพื่อพัฒนานักกีฬาแต่ละคน แต่ละแบบการแข่งขันให้เหมาะสมกับสมรรถนะทางกายของนักกีฬาแต่ละคนอย่างถูกทาง” พล.อ.เดชา กล่าว
นายกสองล้อไทย กล่าวต่อว่า การสนับสนุนด้านวิชาการของคณะทำงานจาก ม.เชียงใหม่ ไม่เพียงแต่จะเน้นในด้านการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยด้วยการฝึกซ้อมเท่านั้น แต่จะมีการนำองค์ความรู้จากภาควิชาหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น โภชนาการ จิตวิทยา เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ยังจะใช้ระบบชีวกลศาสตร์ ผสมผสานกับการปรับรถจักรยานของนักกีฬาแต่ละคนให้ได้ประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักกายวิภาค ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างการฝึกซ้อมและแข่งขันเท่านั้น แต่ยังจะช่วยลดอาการบาดเจ็บของนักกีฬาได้อีกทางหนึ่งด้วย.