นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2563 โดยสำรวจภาคเอกชนในหอการค้าไทย ช่วงวันที่ 23 มิถุนายน 2562–20 กรกฎาคม 2563 พบว่า ค่าดัชนีModern Trade โดยรวมอยู่ที่ 46.4 ค่าดัชนีฯในปัจจุบันอยู่ที่ 45.7 และค่าดัชนีฯต่ออนาคตอยู่ที่ 47.1 ซึ่งพบว่าทุกค่าดัชนีลดลงครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนลูกค้าลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกำลังซื้อของลูกค้าลดลงและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไป ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซื้อเฉพาะสินค้าอาหารจำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น ทำให้การบริหารจัดการธุรกิจ เช่น สต๊อกสินค้ามีจำนวนมาก ธุรกิจและคู่ค้าขาดสภาพคล่อง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยบวกส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ได้แก่ 1.รัฐบาลผ่อนคลายให้เปิดธุรกิจ ยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว)ทำให้ธุรกิจต่างๆกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ และประชาชนทำกิจกรรมต่างๆได้หลากหลายภายใต้วิถีใหม่นิวนอร์มอล 2.ออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ 3.พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว คาดเร่งเบิกจ่ายได้เร็วกว่าเดิมจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น 4.พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ฉบับวงเงิน1.9ล้านบาทผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว 5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16แสนล้านบาท 6. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 7. การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ช 8. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบการฟื้นตัวของธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยว และบริการ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปจากประเทศต่างๆล็อกดาวน์ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เช่น ใช้เวลาออกนอกบ้านน้อยลง อยู่ห้างสรรพสินค้าลดลง ซื้อสินค้าที่จำเป็น เป็นต้น การแข่งขันของธุรกิจอีคอมเร์ชสูงกระทบการค้าปกติ มาตรการยกเลิกวีซ่า18ประเทศ ฟรีวีซ่า 3ประเทศสิ้นสุด 30 กันยายนนี้ การยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของสายการบินในไทย การส่งออกหดตัว ปัญหาสงความการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังไม่มีข้อยุติ บาทแข็งค่าทำให้ราคาส่งออกสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่ง ราคาสินค้าเกษตรไม่สูง กระทบรายได้ของครัวเรือน ภาระหนี้สินของครัวเรือนสูง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลแร่งแก้ไขโดยเร็ว คือ 1.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี และรายย่อย ผ่านกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ 2.มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ‘ช็อป ช่วย ชาติ’ นำไปลดภาษีเงินได้เพดานไม่เกิน 50,000 บาท 3.มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน 4.มาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มหากมีการลงทุน5.เร่งคืนเงินประกันสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึงสิ้นปี 2563 และ 6.เร่งแก้ไขปัญหาการจัดการโควิดให้ยั่งยืน
” รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ซึ่งหลายฝ่ายกำลังตั้งข้อกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เอสเอ็มอียังคงขาดสภาพคล่องตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประเด็นสำคัญคือรัฐต้องเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาธุรกิจให้รอด พร้อมกับทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนโดยเร็วที่สุด นั่นคือ กระตุ้นเงินในกระเป๋าของชนชั้นกลางให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย อย่างโครงการช็อปช่วยชาติ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายตั้งแต่ปลายปีและสามารถนำเงินที่ใช้หักภาษีเงินได้ นโยบายนี้รัฐบาลใช้งบประมาทไม่มากแต่เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และสามารถเลือกทำในเวลาที่เหมาะสมได้ ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องต่อการทำธุริกิจค้าปลีกโดยตรง มี 3 เรื่อง คือ ต้องการให้รับเพิ่มค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเป็น 2 เท่าหากมีการซื้อทรัพย์สินเพื่อการลงทุน ส่งเสริมธุรกิจรถเร่ให้มีมาตรฐาน และส่งเสริมการจ้างงานรายชั่วโมงกับผู้ว่างงาน และเร่งโปรโมทการจัดแสดงสินค้าระดับท้องถิ่น