พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
หลังมีการยืนยันว่า วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทเครือกระทิงแดง หลุดพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด ในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างรุนแรง พร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” และตั้งข้อสังเกตเงื่อนงำปมคดีอื้อฉาวดังกล่าว
ทำให้กลุ่มที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม (TCP) ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังภายใต้แบรนด์ “กระทิงแดง” รีบออกมาแก้เกมด้วยการประกาศตัดความเกี่ยวข้องเชิงธุรกิจ ผ่านหนังสือชี้แจงว่า “วรยุทธ อยู่วิทยา” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริษัทไม่เคยเป็นผู้ถือหุ้น ไม่เคยนั่งบริหารและไม่เคยดำรงตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้นในบริษัท
ในตลาดหุ้นไทยกระแสต่อต้านสินค้า “กระทิงแดง” ทำให้เกิดการเก็งกำไร 2 หุ้นเครื่องดื่มชูกำลังอย่างหนัก นั่นคือ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ที่ถูกจับมาเชื่อมโยงสัมพันธ์เชิงบวกว่า OSP และ CBG จะได้รับประโยชน์จากแบรนด์คู่แข่งอย่าง “กระทิงแดง” ถูกต่อต้าน นั่นหมายถึงจะส่งผลดีต่อยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังของ OSP และ CBG อะไรทำนองนั้น..!?
จนเกิดปรากฏการณ์ไล่ราคาหุ้น OSP จนปรับขึ้นกว่า 5% และ CBG ปรับขึ้นกว่า 7% สะท้อนธรรมชาติของกระต่ายตื่นตูมตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง..!?
จากข้อมูลตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปี 2562 มีมูลค่าตลาดกว่า 30,000 ล้านบาท โดยมีเครื่องดื่มชูกำลังกลุ่ม OSP (เอ็ม-150, ลิโพวิตัน-ดี, ฉลามขาว, โสมอินซัม, M-Storm, ชาร์คคูลไบท์) ครองส่วนแบ่งตลาดมากสุด 54% อันดับสอง คาราบาวแดง สัดส่วน 26% อันดับสามกระทิงแดง มีส่วนแบ่งตลาด 20%
ด้วยข้อมูลที่ปรากฏ..บ่งบอกได้ชัดเจนว่าหุ้น OSP และ CBG ดีใจกับกระแสต่อต้านกระทิงแดง มากเกินไปหรือไม่ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ทั้ง OSP และ CBG มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า กระทิงแดง อยู่แล้ว แม้อาจกระตุ้นยอดขายขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากนัก..ก็แค่ทิ้งห่างอันดับ 3 มากขึ้น..!!
แต่หากสถานการณ์สุกงอมถึงขึ้นว่า “กระทิงแดง” ขายไม่ได้เลย..อันนี้แหละทั้ง OSP และ CBG จะวิ่งแรงชนซิลลิ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร..!?
กลับมาสู่พื้นฐานหุ้น OSP และ CBG หากมองที่มาร์เก็ตแชร์..ชัดเจนว่า OSP ดูเหนือกว่า CBG จากมาร์เก็ตห่างกันมากกว่า เท่าตัว แต่ก็อีกนั่นแหละ OSP ได้เปรียบตรงที่มี 6 แบรนด์ ขณะที่ CBG มีเพียงแบรนด์เดียว ในแง่ความมั่นคงด้วยตำนานกว่า 126 ปี OSP ดีกว่าแน่นอน
แต่เรื่องการเติบโต CBG ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 26% จึงมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า OSP อย่างเห็นได้ชัด และด้วยความที่บริษัทเล็กกว่า..การบริหารงานคล่องตัวกว่า..จึงเป็นเงื่อนไขกระตุ้นให้ CBG มีช่องว่างการขยายตลาดได้มากกว่านั่นเอง
ปรากฏการณ์ “อุปทานหมู่” ที่เกิดขึ้นกับ OSP และ CBG จึงเป็นการตื่นตูมระยะสั้นเท่านั้น มิต่างอะไรกับที่เรากระดกเครื่องดื่มชูกำลังเข้าปาก..และเกิดอาการสดชื่นซาบซ่าช่วงสั้น ๆ…อย่างไงอย่างงั้นเลย..!!?