SME Game Change: พลิกเกมธุรกิจ SME
ดูบทความทั้งหมด
พิกุล ศรีมหันต์
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์
143
ปี 2020 เป็นปีที่โลกส่งสัญญาณแล้วว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมจะนำปัญหาที่รุนแรงมาสู่ทุกสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกได้
ตั้งแต่โรคระบาด พืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ การขาดแคลนทรัพยากร ฯลฯ ขณะเดียวกัน ทุกธุรกิจในตอนนี้ก็กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ซึ่งส่งผลให้ต้องกลับมาบริหารต้นทุนกันใหม่เพื่อความอยู่รอด
จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถลดต้นทุนให้ธุรกิจมีกำไร ขณะเดียวกันก็สามารถมีสินค้าและบริการที่ดีขึ้นให้ลูกค้า พร้อมไปกับการช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นไปด้วย การทำให้ธุรกิจ “Go Green” หรือดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นคำตอบที่ทำให้เรารอดไปด้วยกันหมด
ธุรกิจ “Go Green” ทำให้เกิด 3 Wins คือ ธุรกิจชนะ ลูกค้าชนะ และโลกชนะ
ธุรกิจชนะ – วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนั้น ลำพังการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นก็ยากแล้ว แต่ที่จริงการที่ธุรกิจ “Go Green” สามารถช่วยลดต้นทุนได้ด้วย ซึ่งสุดท้ายทำให้เกิดกำไรไม่ต่างกับการไปเพิ่มรายได้ ซึ่งในช่วงโควิด-19 หลายธุรกิจใช้โอกาสในช่วงล็อกดาวน์ทบทวนสำรวจหา “รูรั่ว” ในธุรกิจของตัวเองแล้วพบว่า กระบวนการผลิตที่มีอยู่ใช้พลังงานเกินความจำเป็น หรือเกิดขยะที่กลายเป็นต้นทุนเพิ่มเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้สำรวจเห็นรูรั่วนี้มาก่อน ถ้าสามารถอุดรอยรั่วนี้ได้ก็สามารถประหยัดพลังงานมากขึ้น กำไรก็จะตามมา
ลูกค้าชนะ – ผู้บริโภคในปัจจุบันเองก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มี “Purpose” หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะ “Purpose” ในการทำให้โลกดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะสุดท้ายธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับใส่ใจลูกค้าด้วย ลูกค้าเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับภาครัฐก็สนับสนุนธุรกิจ “Go Green” ด้วยการสนับสนุนด้านมาตรการทางภาษี การสนับสนุนด้านการลงทุน ฯลฯ เพราะเชื่อว่าธุรกิจนี้จะดีสำหรับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
โลกชนะ – เมื่อพลังงานถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น มลพิษน้อยลง ของเสียน้อยลง พอโลกดีขึ้น เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น ธุรกิจเองก็สามารถมีวัตถุดิบที่ดีมาใช้ในการผลิตได้ต่อ ลูกค้าก็จะได้สินค้าที่ดีต่อไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้ ธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
SCB เราเชื่อว่าการที่ธุรกิจ “Go Green” จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนที่เป็นประโยชน์กับทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เราจึงมีพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้ธุรกิจ “Go Green” ไปด้วยกัน และสามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหาทางธุรกิจได้เช่นกัน
- ที่ปรึกษาด้านระบบประหยัดพลังงาน เรามีพันธมิตรคือ บริษัท อัพเดท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบพลังงานโซล่าเซลล์เพื่อนำมาปรับใช้ในกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่ใช้ไฟ 2- 500 กิโลวัตต์ ต่อ 6 ชั่วโมง โดยใช้เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 20 ล้านบาทเพื่อการติดตั้งหลังคาโซล่าเซลล์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดค่าไฟได้ถึง 130,000 บาทต่อเดือน และคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี
- การประหยัดค่าไฟฟ้า เรามีพันธมิตรคือ บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PAC จุดเด่นเทคโนโลยีของ PAC คือการนำพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านนวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อนและเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ได้ถึง 10-20% สำหรับโรงแรมขนาด 20-30 ห้อง คืนทุนค่าใช้ผลิตภัณฑ์/บริการจากการลดค่าไฟได้ใน 2-3 ปี
- การลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนลง เรามีพันธมิตรคือ Alto ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจโรงแรมมามากกว่า 10 ปี คิดค้นระบบที่สามารถนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ทำงานได้ง่ายขึ้น จัดการทรัพยากรภายในโรงแรมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนลงและประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากสุดถึง 30% สำหรับโรงแรมขนาด 100 ห้องพัก โดยมีระยะเวลาในการคืนทุน 1 ปี
- Zero Waste เรามีพันธมิตรคือ Oklin Thailand ที่นำไบโอเทคโนโลยีคัดเลือกจุลินทรีย์ช่วยกำจัดเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมงได้ ช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ถึง 90% สามารถเอาปุ๋ยไปใช้ได้ต่อ พื้นที่ก็สะอาด ลดเชื้อโรคได้มากขึ้นเพราะไม่มีแมลงวันที่มาพร้อมกับขยะ
- ระบบบริหารจัดการการขนส่ง เรามีพันธมิตรคือ Digimove แอพพลิเคชั่นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง และทำงานเชื่อมโยงกับระบบอีอาร์พีได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะมีคำถามว่าการต้องปรับธุรกิจให้ Go Green แบบนี้เท่ากับต้องเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นด้วยหรือไม่ ในระยะสั้นแน่นอนว่ามีต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ แต่ในระยะยาวสามารถคืนทุนได้เหมือนกัน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถคืนทุนได้ภายใน 7-8 ปี หากธุรกิจเป็นกิจการที่ใช้ไฟในช่วงกลางวัน จะสามารถชดเชยค่าไฟได้ถึง 100% ยิ่งพื้นที่ใหญ่ ต้นทุนค่าติดตั้งก็จะยิ่งถูกลงอีก
นอกจากนั้น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังสนับสนุนธุรกิจ Go Green ด้วยการจัดให้มีที่ปรึกษาฟรีในเรื่องผลประหยัดจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ เพื่อใช้พลังงานทดแทนกับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ และทุกขนาดสถานประกอบการ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เองก็ให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน เช่นเดียวกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก็สนับสนุนธุรกิจ “Go Green” ให้ได้รับสิทธิ์การจัดอยู่ในรายชื่อผู้ผลิตสินค้าสีเขียวสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เพื่อประโยชน์ในการนำเข้า-ส่งออก
เท่ากับว่าในระยะยาวแล้ว ธุรกิจ Go Green สามารถคืนทุนได้ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจ
ถ้าผู้ประกอบการอยากที่จะเริ่มต้น “Go Green” แต่ยังนึกไม่ออกว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง SCB เรายินดีเปิดบ้านให้คำปรึกษา นอกจากนี้ SCB เองต้องการให้ธุรกิจเติบโตอยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดีแบบยั่งยืน จึงคิดค้น “SME GO GREEN” สินเชื่อเพื่อธุรกิจรักษ์โลกที่พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย “วงเงินสินเชื่อระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อธุรกิจ” สำหรับธุรกิจประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อสังคม รวมถึงธุรกิจที่มีผู้ประกอบการผู้หญิงถือหุ้นมากกว่า 50% (ไม่จำกัดธุรกิจ) พร้อมด้วยสิทธิพิเศษต่าง ๆ จาก SME GO GREEN Solution ตัวช่วยราคาพิเศษในการลดต้นทุนจากการประหยัดพลังงาน การลดของเสียในการดำเนินธุรกิจและเพื่อการใช้พลังงานต่าง ๆ ในธุรกิจอย่างคุ้มค่า
ถ้าเรามีความเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมาย ไม่ได้โฟกัสที่การแก้ปัญหาระยะสั้นจากโควิด-19 อย่างเดียว ในวันข้างหน้าที่อาจจะมีวิกฤตอื่นๆ ตามมา ถ้ารากฐานของธุรกิจเราแข็งแรงจากการลดต้นทุนด้วยหลัก “Go Green” ตั้งแต่ต้น ธุรกิจของเราก็จะยังเติบโต คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้นยืนยาว และสิ่งแวดล้อมบนโลกดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปด้วย
แล้วเราจะรอดไปด้วยกันทุกคนด้วย “Go Green”
[นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทด้านพัฒนาเศรษฐกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้คว่ำหวอดในธุรกิจการเงินธนาคารเป็นเวลากว่า 30 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ได้รับความไว้ใจในการรับผิดชอบดูแลลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ผ่านสภาพเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตฟองสบู่มาได้ ทำให้มีเงินทุนลงไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หลังเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการรับผิดชอบดูแลสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ช่วยให้คนมีที่อยู่อาศัยประมาณ 6 แสนครัวเรือน สร้างธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันรับผิดชอบลูกค้า SME เป็นผู้ริเริ่มโครงการ SCB SME Academy ชุมชนความรู้ทางธุรกิจเพื่อบ่มเพาะศักยภาพเอสเอ็มอีแบบ 360 ช่วยสร้างผู้ประกอบการของประเทศให้แข็งแรงส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างมั่นคง]
ดูบทความทั้งหมดของ SME Game Change: พลิกเกมธุรกิจ SME