ในครั้งนี้จะชวนทุกคนไปเพลิดเพลินเดินท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ หรือWalking Bangkokลัดเลาะเข้าตรอกออกตามซอย ชมความงดงามของวัดวาอารามต่างๆ และวัดร้างของย่านฝั่งธนบุรีสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งเมืองหลวง
จุดเริ่มต้นของการเดินทางในทริปนี้อยู่ที่ “วัดกำแพงบางจาก” ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพบหลักฐานการจารึกชื่อ “พระพิศาลผลพานิช” หรือ “จีนสือ” ขุนนางเชื้อสายจีนในกรมท่าซ้าย ซึ่งคาดว่าเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ในการบูรณะวัด การปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ปรากฏนามของ “พระพิศาลผลพานิช หรือ จีนสือ ซึ่งในสมัยนั้นนิยมปูนปั้นที่เป็นลายเครือเถา ดอกไม้ ประดับอาคารส่วนเสายังเป็นแบบประเพณีคือย่อมุมไม้สิบสอง
ภายในอุโบสถมีพระประธานชื่อ หลวงพ่อบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา เริ่มจากพระรัศมีเปลว มีความหมายถึง
ความเจริญรุ่งเรือง ด้านนูนของกระหม่อมบอกถึงความสำคัญว่าเป็นศีรษะของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า “อุษณีษะ” เพราะตรัสรู้ได้มากกว่าคนทั่วไป และยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพระในสมัยของอยุธยาก็คือ เส้นไรพระศก (ลูกผม) จะเห็นขอบชัดเป็นแนว พระขนง (คิ้ว) เป็นรูปปีกกา พระเนตร (ดวงตา) จะลึกเห็นดวงตาชัดเจน เปลือกตามองลงมา หากใครมากราบไหว้จะมองเห็นเหมือนองค์พระกำลังมองอยู่ พระนาสิก (จมูก) โด่ง พระโอษฐ์ (ปาก) แย้มเล็กน้อย ไม่มีพระถัน (นม) นอกจากองค์พระประธานแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนในสมัยช่วงรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 ให้เดินชมกันอีกด้วย
ออกจากวัดกำแพงบางจากเดินเลียบริมคลองเข้าไปในตรอกซอกซอยจะพบกับชุมชน ภายในจะมี “วิหารหลวงพ่อสุวรรณคีรี” มีลักษณะเป็นวิหารเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนสุธรรมศึกษา โดยสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ คาดว่าเป็นวัดร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ เนื่องจากไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ต่อมาได้รวมยุบกับวัดคูหาสวรรค์ ปัจจุบันมีประเพณีการแห่หลวงพ่อสุวรรณคีรี โดยการนำรูปแทนองค์จริง โดยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แม้ว่าวัดแห่งนี้จะเป็นวัดร้าง แต่ยังมีผู้คนมักจะเดินทางมาขอพรเรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน บุตรหลาน
อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาก็คือ “วัดคูหาสวรรค์” เดิมชื่อว่า “วัดศาลาสี่หน้า” ส่วนที่ยังคงหลงเหลือและแสดงความเป็นสิ่งของสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ลายหน้าบันสลักไม้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถ ปีกของหน้าบันเล็กตามหลังคาลดชั้นอีกด้านละสองปีก เป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา และใบสีมาที่เป็นสีมาคู่ ทำด้วยหินทรายแดง ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย
ส่วนซุ้มสีมานั้นสร้างเพิ่มเติมขึ้นที่หลัง แบบเดิมใบสีมาประดิษฐานอยู่บนแท่นปูนเท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดพระโพธิ์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระประธานองค์ใหม่ขึ้นมีชื่อว่า พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร ประดิษฐานภายในอุโบสถ มีลักษณะเป็นปางสมาธิ เป็นปางที่เป็นพระราชนิยม ในรัชกาลที่ ๑ และพระระเบียงด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย และพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยา
จากเชิงสะพานปิ่นเกล้าบริเวณฝั่งธนบุรี เดินไม่ไกลจะพบกับวัดโบราณสมัยอยุธยาชื่อว่า “วัดดุสิตารามวรวิหาร” (วัดเสาประโคน) ติดคลองบางกอกน้อย เป็นวัดสายตระกูลปาลกวงศ์ ซึ่งเป็นสายตระกูลตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๑ โดยกรมหลวงศรีสุนทรเทพ เจ้าฟ้าแจ่ม ได้บูรณะวัดแห่งนี้ แต่คนที่มาบูรณะต่อคือ วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 2 คือ พระองค์เจ้าจุ้ย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
ภายในอุโบสถมีพระประธานลักษณะปางมารวิชัยแบบอยุธยา หน้าใหญ่อิ่ม (พระถันหายไป อาจจะเพราะบูรณะในข่วงรัชกาลที่ ๓) ชายสังฆาติมีรอยยับย่น พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์ซ้าย ยกมือซ้าย แกะสลักขึ้นมาจากไม้แก่นจันทน์ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณีแบบอยุธยาที่เก่าที่สุด โดยใช้พื้นสีแดงเป็นหลัก จุดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังที่ถือว่าเป็นระดับประเทศคือ ลายฝั่งตรงข้ามพระประธาน เป็นภาพที่เน้นการทำความดีของพระพุทธเจ้า
บริเวณตรงข้ามวัดดุสิตารามวรวิหาร เป็นที่ตั้งของ “วัดภุมรินทร์ราชปักษี”เป็นวัดร้าง มีวิหารทรงสูง ภายในประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระประธานปางมารวิชัย สมัยอยุธยา มีพระอัครสาวกที่กำแพง เป็นนูนต่ำ เพื่อให้เหลือพื้นที่ในวิหารมากขึ้น อาคารโค้งสำเภา คาดว่ามีการบูรณะวัด สัญลักษณ์กระต่าย-พระจันทร์ นกยูง-พระอาทิตย์ จุดเด่นคือ มีเมฆลา กับ รามสูร ฝั่งตรงข้ามพระประธานเป็นภาพกำแพง 7 ชั้นแทนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นและวิมาน มีการแบ่งตัวสี
ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ตรวจสอบวัดแห่งนี้ ปรากฎว่ามีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียว จึงโปรดเกล้าฯให้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิตาราม ส่วนของพระอุโบสถด้านนอกมีหน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพน ประดับกระจกสีที่ยังพอมีให้เห็นบ้าง
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวัดร้างชื่อว่า “วัดน้อยทองอยู่” ที่คงเหลือแต่พระปรางค์ยังมีให้เห็น ส่วนอื่นๆ โดนระเบิดทางอากาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพ.ศ.2489 ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทางราชการจึงประกาศให้รวมเข้ากับวัดดุสิตารามอีกวัดหนึ่ง
ต่อมาที่ “วัดสวนสวรรค์” เป็นวัดร้างที่คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันวัดคฤหบดีเป็นผู้ดูแล มีเสมาแบบพิเศษหักมุม บางจุดมีซุ้มทรงกูบ รับกับมุมอาคาร โดยคาดว่ามีการบูรณะในช่วงรัชกาลที่ ๑ มีหน้าบันลายปูนปั้นเป็นรูปพระอินทร์ จึงว่าเป็นสวนของพระอินทร์ หรือ สวนสวรรค์ นั่นเอง
ในประวัติศาสตร์ของวัดคฤหบดีระบุว่า วัดสวนสวรรค์ มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ และร้างไปเมื่อ พ.ศ.2463 และได้รวมเข้าด้วยกันใน
พ.ศ.2519 และภายในอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อดำ มีพระอัครสาวกนั่งถวายอัญชลี ด้านนอกมีพระปรางค์เล็ก 2 องค์ ซึ่งสูงชะลูดแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะมีเจ้านายวังหน้าเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ เพราะไม่ไกลจากวัดบวรมงคลที่อยู่ในความดูแลอุปถัมภ์ของวังหน้า
ปิดท้ายที่ “วัดคฤหบดี” โดยวัดแห่งนี้เป็นผู้ดูแลอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติของ รัชกาลที่ ๓ คือ เจ้าพระมนตรีบริรักษ์ ภู่ ภมรมนตรี (ต้นตระกูลภมรมนตรี) วัดที่สร้างถวายรัชกาลที่ ๓ เป็นแบบราชนิยม เสาทึบตัน หน้าบันเป็นลายดอกพุฒตาล ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ซุ้มเสมาเป็นลายดอกพุฒตาล เสมาที่มีการทำแบบเดียวกัน มีพื้นที่สนามหญ้าเพื่อให้เห็นอาคารชัดเจน (ต้นแบบวัดราชโอรสาราม) รัชกาลที่ ๓ พระราชทานชื่อและพระทองคำให้ด้วย
ภายในมีพระพุทธประวัติหลวงพ่อแซกคำ (พระพุทธแซกคำ) เป็นศิลปะล้านนา พระพักตร์กลม เส้นพระเกศาเป็นก้นหอย อกใหญ่ เอวคอด แขนซ้าย-ขวา ใหญ่ สิ่งที่ไม่เหมือนองค์อื่น คือ นิ้วพระหัตถ์ งอนสวย การนั่งสมาธิรายแต่นิ้วเท้าอ่อนช้อย การมีซุ้มปราสาท และมีฐานหลายชั้น คือเพื่อให้พระพุทธรูปดูใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีองค์เล็ก และเป็นตราสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ ๓
ถ้าใครไปเยือนแถวฝั่งธนฯ ก็ลองหาเวลามาเดินท่องเที่ยวชมวัดวาอาราม ทั้งที่เป็นวัดในปัจจุบันและวัดร้าง ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และความงดงามของศิลปะโบราณที่เหลือไว้ให้เห็น
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR