10 กรกฎาคม 2563
| โดย [บทบรรณาธิการ]
1,223
ไตรมาส 3 เป็นช่วงเวลาของการชี้ชะตาของผู้ประกอบการหลายราย เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่ ภาครัฐจึงควรพิจารณาต่อว่าควรมีความช่วยเหลือใดเพิ่ม หลังจากมาตรแจกเงินเยียวยาหมดลงแล้ว
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 จะเป็นช่วงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่าไตรมาส 2 จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด เพราะการล็อกดาวน์และการปิดประเทศมีผลต่อหลายธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 อาจจะติดลบถึง 10%
ถึงแม้ว่าเราจะผ่านไตรมาส 2 มาแล้ว และการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงมาก แต่ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มอาชีพอิสระและเกษตรกรรวม 3 เดือน และกลุ่มอาชีพอิสระบางส่วนได้รับเงินครบ 3 เดือนแล้ว นั่นหมายความว่านับจากนี้เป็นต้นไปจะไม่มีเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือในการดำรงชีวิตแล้ว
สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้กำหนดแผนการใช้งบประมาณทั้งการเยียวยาและการฟื้นฟู โดยในส่วนการฟื้นฟูกันวงเงินไว้ที่ 400,000 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรอบแรก 5 โครงการ วงเงิน 15,520 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2563 และจะทยอยอนุมัติงบประมาณเพิ่มหลังจากนี้
ผลต่อเศรษฐกิจจากงบประมาณฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 อาจจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีในไตรมาส 3 ในขณะที่มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทยอยหมดลง โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน เช่น การพักเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งมาตรการทางการเงินเป็นมาตรการสำคัญที่สภาพคล่องทางธุรกิจที่จะทำให้สถานประกอบการอยู่รอดได้ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะกระทบมากที่สุด และไตรมาส 3 ยังไม่แน่ชัดว่าจะฟื้นตัวจึงควรพิจารณาต่อว่าควรมีความช่วยเหลือใดเพิ่ม
ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี เพราะผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวไม่น้อยที่มีความสามารถในการประคองธุรกิจต่ำ นั่นหมายความว่าเมื่อสภาพคล่องมีปัญหาจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสภาพการจ้างงาน โดยหลังจากนี้จะเห็นการลดชั่วโมงการทำงานและการเลิกประกอบการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไตรมาส 3 จึงเป็นช่วงเวลาของการชี้ชะตาของผู้ประกอบการหลายราย