1 สิงหาคม 2563
| โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย | คอลัมน์ ถอดรหัส (ไม่) ลับ กับการลงทุน
248
เมื่อบริษัทต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโคโรน่า ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจ Healthcare และ Biotechnology มีโอกาสเติบโตสูงจากการพัฒนาวัคซีน ซึ่งนักลงทุนควรมองถึงการกระจายลงทุนเฉพาะเจาะจงในกลุ่มธุรกิจ เช่น Healthcare ETF, Biotechnology ETF
ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าพุ่งสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน โดยล่าสุดยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงกว่า 16 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้วทั่วโลกกว่า 6 แสนคน ขณะที่ในหลายประเทศยังใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายประชาชน เพื่อควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดส่งผลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของประชาชนรวมถึงแนวโน้มหดตัวทางเศรษฐกิจ
ซึ่งการที่จะสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลกลับมาอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ และประชาชนมีความกล้าที่จะออกมาดำเนินชีวิตอย่างเดิมนั้น อาจจะต้องคอยจนกว่าจะสามารถกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันนักวิจัยกำลังเร่งมืออย่างเต็มที่ในการพัฒนาวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ดี การพัฒนาวัคซีนนั้นมีความซับซ้อนค่อนข้างมากเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความปลอดภัยเพียงพอ เนื่องจากต้องผลิตและแจกจ่ายให้กับประชากนับล้าน
ดังนั้นกระบวนการทดสอบวัคซีนจึงต้องมีหลายขึ้นตอน ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนต่างดังนี้
การทดลองก่อนการทดสอบทางคลินิก (Pre-Clinic stage of testing) ซึ่งเป็นการให้วัคซีนให้แก่สัตว์ เพื่อดูว่ามีการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันหรือไม่
การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 (Phase 1 of Clinic trail) วัคซีนนี้จะถูกมอบให้กับคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อทดสอบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในขนาดต่างๆ และเพื่อระบุผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีน
การทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 (Phase 2 of Clinic trail) ทำการทดสอบวัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดีกลุ่มใหญ่หลายร้อยคนเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและปริมาณการให้วัคซีนที่ถูกต้อง
การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 (Phase 3 of Clinic trail) วัคซีนจะมอบให้กับคนหลายพันคนเพื่อยืนยันความปลอดภัยรวมถึงผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยการศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ได้รับยาหลอก เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างสองกลุ่มนี้เกิดจากวัคซีน โดยปกตินักวิจัยมักจะติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษาระยะที่ 3 เป็นระยะเวลานานเพื่อติดตามความปลอดภัยและประสิทธิภาพระยะยาว การเฝ้าระวังตามหลังบางครั้งเรียกว่าการทดลองทางคลินิกระยะที่ 4
ซึ่งหากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ประสบความสำเร็จนักวิจัยจะดำเนินการขออนุญาตกับหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเพื่อขออนุญาตผลิตและจำหน่ายวัคซีน แม้กระทั่งหลังจากที่วัคซีนเริ่มเข้าสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์การเฝ้าระวังความปลอดภัยและประสิทธิภาพของมันยังคงดำเนินต่อไป
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าปัจจุบันกำลังมีวัคซีนมากกว่า 140 บริษัททั่วโลกที่กำลังทำการวิจัย และทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าอยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทที่น่าจับตาและคาดหมายว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้เป็นกลุ่มแรกๆ ได้แก่ วัคซีนจากบริษัท Moderna และ Novavax ของประเทศสหรัฐ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษ
วัคซีนของบริษัท BioNtech ของเยอรมันที่พัฒนาร่วมกันกับบริษัท Pfizer ของสหรัฐ วัคซีนจากสถาบันวิจัย Murdoch ของออสเตรเลีย และวัคซีนจากประเทศจีน ได้แก่ บริษัท Sinopharm, บริษัท Sinovac และบริษัท CanSino Biologics เป็นต้น โดยบริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้นำที่กำลังทดสอบวัคซีนกับมนุษย์ในระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งนักวิจัยได้ตั้งความหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้ได้ภายในต้นปี 2564
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจ Healthcare และ Biotechnology มีโอกาสเติบโตสูงจากการพัฒนาวัคซีน สำหรับนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในสิ่งที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความคืบหน้าในการทดสอบวัคซีนป้องการไวรัสโคโรน่าในอนาคตนั้น สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุน ETF (Exchange Trade Fund) ที่มีการกระจายไปลงทุนเฉพาะเจาะจงในกลุ่มธุรกิจ เช่น Healthcare ETF, Biotechnology ETF
ตัวอย่างเช่น Healthcare ETF มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัท Pfizer ประมาณ 5.24%, Biotechnology ETF มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัท Moderna ประมาณ 3.06% เป็นต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้ (1 ม.ค. – 27 ก.ค.) Healthcare ETF ให้ผลตอบแทนประมาณ 3.67% และ Biotechnology ETF ให้ผลตอบแทน 13.54% ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.14%
ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อบริษัทต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน บริษัทเหล่านี้ก็จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาวิจัยและการเข้ามาการันตียอดสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจากรัฐบาล ส่งผลให้ศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนมีสูงขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความต้องการซื้อวัคซีนจำนวนมาก ส่งผลให้มีข้อจำกัดที่บริษัทเพียงบริษัทเดียวจะสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการ
เพราะฉะนั้นหากบริษัทใดสามารถที่จะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็จะได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตาและส่งผลให้ราคาหุ้นมีความผันผวนสูงขึ้น สืบเนื่องจากความเร่งด่วนในการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการพัฒนาวัคซีนในอดีตใช้เวลามากกว่า 10 ปี จึงมีความเป็นไปได้ที่การพัฒนาวัคซีนจะล้มเหลว และยังมีความเสี่ยงที่วัคซีนอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้หรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการเมือง เช่น นโยบายควบคุมราคา เป็นต้น
การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุกควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุนทุกครั้ง แต่ถ้าไม่มีการลงทุนใดๆ เลย นั่นนับว่าเป็นความเสี่ยงกว่านะครับ