จากการสำรวจ Asia CFO Survey Report ของธนาคารยูโอบี ในหมู่ผู้บริหารระดับสูง 300 ราย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (64%) จีน และฮ่องกง (36%)
ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน พบว่าผู้บริหารจัดให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นความเสี่ยงอันดับแรก ซึ่งมี โรคระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยนโยบายด้านเครดิตของภาคการเงินที่รัดกุมมากขึ้น ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองอันเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนอันยืดเยื้อ และภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกผลิตภัณฑ์หรือองค์กรที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน
67% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และมาตรการรักษาระยะทางสังคม ธุรกิจเองได้ปรับตัวรับมือด้วยการตัดค่าใช้จ่าย การมองหาฐานการผลิตใหม่ หรือย้ายฐานการผลิต
นอกจากนี้ โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจหันมาประเมินการบริหารจัดการซัพพลายเชนใหม่ เนื่องจากสภาพการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังชะลอการขยายธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจขาลง
กลยุทธ์ทางธุรกิจก่อนและหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19
ไม่น่าแปลกใจว่าธุรกิจ วางแผนระยะสั้นเพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจขาลงในช่วง 1-3 ปีจากนี้ โดยการเก็บเงินสดสำรองและปรับลดค่าใช้จ่าย และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ รวมถึง การควมคุมบัญชีรายรับให้รัดกุมมากขึ้น เมื่อพิจารณาร่วมกับความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน บรรดาบริษัทต่างก็มองหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดในการขายสินค้าใหม่ด้วย
ในระยะยาว มากกว่า 3 ปีขึ้นไป ธุรกิจจะใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าและบริการ การบริหารจัดการซัพพลายเชน การปรับใช้เทคโนโลยี และการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท เรามองว่าโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องพิจารณาเรื่องซัพพลายเชนใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลสำรวจชี้ว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีและการสื่อสาร ต้องการที่จะดึงฐานการผลิตกลับเข้าประเทศมากที่สุด
ความตึงเครียดจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ อาทิ การย้ายฐานการผลิต หรือหาแหล่งวัตถุดิบใหม่แล้ว เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ในระยะกลาง กลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจนั้นก็คือการเปิดตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงของการให้ความสำคัญกับตลาดใดตลาดหนึ่ง การดึงกำลังผลิตกลับมาไว้ที่ประเทศตัวเอง ถือเป็นกลยุทธ์ระยะยาว โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจในจีนและฮ่องกง
หลายบริษัทยังมองถึงเรื่องการใช้ศักยภาพและทรัพยากรอย่างเเต็มที่ เพื่อขยายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ทดแทนจากการขยายไปยังตลาดอื่นๆ ที่ให้ผลกำไรมากกว่า
ส่วนเรื่องที่ว่าความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะดำเนินไปอีกนานเท่าไร ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จยืดเยื้อไปอีก 1-3 ปี และเตรียมปรับกลยุทธ์หลังจาก 1-3 ปีข้างหน้า ยกเว้นธุรกิจในประเทศจีนและฮ่องกงที่คาดว่าจะยืดเยื้อยาวนานเกินกว่า 3 ปี
เวียดนาม อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย คือเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากปัจจัยสำคัญทั้งในด้าน แหล่งวัตถุดิบ แรงงานที่มีฝีมือ นโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงดีมานด์ในประเทศ
โดยเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุด สำหรับธุรกิจในประเทศมาเลเซีย จีน และฮ่องกง โดยเวียดนามเป็นฐานของห่วงโซ่อุปทานใหม่ สำหรับภาคอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และเทคโนโลยีและการสื่อสาร และเป็นตลาดใหม่ของภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ติดตามอ่านผลสำรวจ Asian CFO Survey Report ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ยูโอบี https://www.uobgroup.com/industry-insights/asia-cfo-report.page หรือสแกน QR code ด้านล่างนี้
ดูบทความทั้งหมดของ ทีมวิเคราะห์ธุรกิจ ธนาคารยูโอบี