คลังวิเคราะห์ 7 โลว์คอสต์มีแค่ “แอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ส” แข็งแรง บีบธุรกิจการบิน “ควบรวมกิจการ”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ได้พิจารณางบการเงินของสายการบินโลว์คอสต์ 7 ราย ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยสมายล์, นกแอร์ และนกสกู๊ต ที่ได้เข้ามายื่นขอให้ช่วยเหลือเงินกู้ซอฟต์โลน พบว่ามีเพียง 2 สายการบินที่ผลประกอบการมีกำไรก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือไทยแอร์เอเชียกับบางกอกแอร์เวย์ส ที่เหลือล้วนประสบปัญหาขาดทุนมาก่อนแล้ว แม้บางรายจะขาดทุนปีเว้นปีก็ตาม ดังนั้นการเข้าสู่ศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ ก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดไว้
“นกแอร์ยื่นศาลฯขอฟื้นฟูกิจการ เพราะจะต้องหาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มทุน ซึ่งการเข้าฟื้นฟูกิจการก็เป็นแนวทางที่ดี เพราะผู้ถือหุ้นนกแอร์มีหลายกลุ่มมาก บางรายถือหุ้นไม่มาก แต่ก็เป็นอุปสรรค ทั้งนี้เมื่อเข้าแผนฟื้นฟูแล้วก็คงจะต้องมีการเพิ่มทุน ส่วนสายการบินอื่น ๆ ก็ลำบาก น่าจะต้องมีเดินเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นกัน อย่างเช่น ไทยไลอ้อนแอร์ ขณะที่แนวทางการควบรวมกิจการก็มีความเป็นไปได้ รวมถึงบางสายการบินอาจจะล้มหายตายจากไปเลย เพราะโควิดรอบ 2 รอบ 3 ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาของธุรกิจสายการบินในปัจจุบัน นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว ยังมีเรื่องการแข่งขันตัดราคาซึ่งรุนแรงมาตั้งแต่ก่อนมีโควิด และแม้จะเปิดบินในประเทศได้ก็มีการออกโปรโมชั่นตัดราคากันรุนแรงอีก
“แอร์เอเชีย” จ่อกวาดแชร์
แหล่งข่าวในวงการสายการบินรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” จากสถานการณ์ของธุรกิจสายการบินที่อยู่ในภาวะยากลำบากนี้จะเห็นว่า “ไทยแอร์เอเชีย” อาศัยจังหวะที่คู่แข่งอ่อนแรงรุกอย่างหนัก ทั้งรักษาเส้นทางการบินของตัวเองไว้ รวมทั้งชิงเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ เพื่อกวาดส่วนแบ่งในตลาดให้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่มีดีมานด์ในการเดินทางท่องเที่ยวในเวลานี้ยังไม่สูงนัก
“ตอนนี้ทุกคนอ่อนแรงหมด ที่ผ่านมาแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 30-33% นกแอร์ 20-21% ไทยไลอ้อนแอร์ 13-15% หากนกแอร์และไทยไลอ้อนแอร์จำเป็นต้องยุติบทบาท มีโอกาสกวาดส่วนแบ่งการตลาดได้เกิน 50%”
“แอร์ไลน์” ซบหนักมาหลายปี
อย่างไรก็ตาม หากดูผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะพบว่าในปี 2562 ที่ประเทศไทยมีนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 39.8 ล้านคน แต่รายได้สายการบินกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการบินไทย รายได้รวมลดลง 7.7% ขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท นกแอร์ รายได้รวมลดลง 8.47% ขาดทุนสุทธิ 2,051.39 ล้านบาท แอร์เอเชีย แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 3% แต่ขาดทุนสุทธิ 871.5 ล้านบาท มีเพียงสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเท่านั้นที่ยังคงรักษาสถานะที่เป็น “กำไร” ได้เพียงรายเดียว
และหากย้อนหลังไปอีก 1 ปีก็ยังพบว่าปี 2561 ก็เป็นปีที่สาหัสมากสำหรับธุรกิจสายการบิน โดยผลประกอบการของ 4 สายการบินของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าขาดทุนเพิ่มขึ้นร่วม 1 หมื่นล้านบาท จากตัวเลขขาดทุนรวมประมาณ 3.96 พันล้านบาท ในปี 2560 เพิ่มมาเป็นขาดทุน 1.44 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งเป็นการขาดทุนของการบินไทยและนกแอร์
ขณะที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” และ “ไทยแอร์เอเชีย” แม้จะยังมีกำไร แต่ตัวเลขกำไรก็ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 1.94 พันล้านบาท ซึ่งประเด็นหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรงและราคานํ้ามันที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี รวมถึงการชะลอการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน