“ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนักในช่วงแรก ธุรกิจขายตรง ที่จะชวนนักธุรกิจเข้าร่วมเครือข่ายนั้นยากมาก เพราะทุกคนล้วนกลัวไปหมด แต่พอทุกคน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และหันไปซื้อสินค้าออนไลน์และมาร์เก็ตเพลสทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป”
ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจขายตรง ทุกคนก็อาจจะเบือนหน้าหนีและอาจถึงขั้นยี้ในการนัดหมายนำเสนอธุรกิจหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียอีก แต่ที่น่าแปลกใจคือ เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นมาทุกคนกลับมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจขายตรง
พญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ผ่านมามีนักธุรกิจที่เข้ามาสมัครร่วมทำธุรกิจกับ กิฟฟารีน เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากอัตราเฉลี่ยปกติอยู่ที่ราว 9,000 คน/เดือน เป็น ราว 4.5-5 หมื่นคน/เดือนและการเก็บข้อมูลยังพบว่านักธุรกิจกลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเป็นนักธุรกิจที่มีอายุน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่บางคนที่สนใจร่วมทำธุรกิจอาจมาจากการตกงานช่วงสั้นๆ มาลองทำดูก็ไม่ได้เสียหายอะไร โดยกลุ่มนี้เมื่อมีงานกลับมาก็ทำธุรกิจกิฟฟารีนเป็นธุรกิจเสริม หรืออาจจะกลับไปเป็นผู้บริโภค เนื่องจากกิฟฟารีนได้เปรียบเรื่องการยืดหยุ่นทางธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจไม่ต้องลงทุนหรือซื้อสินค้าตุนไว้ ทำให้สามารถทำงานร่วมกับงานประจำและทำที่ไหนก็ได้
ที่สำคัญจุดเริ่มต้นของนักธุรกิจเหล่านี้มาจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านเพจของนักธุรกิจกิฟฟารีน จากนั้นก็เกิดการซื้อซ้ำ จนกระทั่งสมัครเข้าร่วมธุรกิจในที่สุด เสมือนหนึ่งการเริ่มต้นพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ในลักษณะเพื่อนและให้คำปรึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ที่ไม่ใช่การนัดพบหรือการนำเสนอธุรกิจใดๆ โดยช่องทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากที่ทำให้มุมมองของผู้บริโภคต่อธุรกิจขายตรงเปลี่ยนไป ซึ่งหากผู้บริโภคอยากคุยเขาก็จะคุย และเช่นเดียวกัน หากไม่อยากคุยเขาก็แค่ไม่คุย ทำให้การสมัครเข้าร่วมธุรกิจง่ายยิ่งขึ้น สบายใจมากขึ้น และลดความกังวลต่อความกลัวซึ่งกันและกัน
ความโชคดีของกิฟฟารีนที่ทรานส์ฟอร์มทุกอย่างมาแล้วหลายปี
กิฟฟารีนปรับวิธีการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล และการใช้ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มาแล้ว 3-4 ปีก่อน ซึ่งได้มีการอบรมนักธุรกิจและพนักงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการใช้เครื่องมือของออนไลน์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนกระทั่งระดับสูง อาทิ การเปิดเพจบนเฟซบุ๊ก การทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาของนักธุรกิจที่มีความแตกต่างทางอายุในหลายระดับให้เข้าใจและลงมือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนั้น บริษัทยังได้เข้าร่วมไปเปิดธุรกิจอย่างเป็นทางการ (Official Store) บนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสชื่อดัง ทั้ง ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) พร้อมทั้งมีการออกใบรับรองสำหรับนักธุรกิจของกิฟฟารีนที่ใช้ช่องทางดังกล่าวในการนำเสนอสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการรับรองแก่ผู้บริโภคให้มีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์และนักธุรกิจที่จะไม่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณ
ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่เราเริ่มทรานส์ฟอร์มไปจะได้ใช้งานเร็วขนาดนี้ อาจจะถือเป็นความโชคดีที่เราเตรียมการไว้ก่อน โดยนักธุรกิจในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดอยู่บ้านไปไหนไม่ได้ กลับทำให้เขามีรายได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำจากการใช้ช่องทางออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ทุกคนตื่นตัวเพราะมองว่าโลกใบนี้คงไม่กลับไปที่เดิมอีกแล้ว บางอย่างถูกดิสรัปชั่นไป อาทิ ความคุ้นชินความสะดวกสบาย การทำงานที่บ้าน (Work From Home) การลดการเดินทาง เป็นต้น
บทเรียนของกิฟฟารีนที่ได้จากโควิด-19
สถานการณ์นี้สอนให้เรารู้ว่าโควิด-19 ทำให้ปรับตัวได้เร็วกันทั้งประเทศ ซึ่งเราเองก็ได้มีการปรับรูปแบบการจัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี ที่ปกติต้องมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง/ปี โดยได้เปลี่ยนเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ ทำ Live Facebook ในหัวข้อต่างๆ ซึ่งหากใครสนใจในหัวข้อไหนก็สามารถเข้าร่วมรับชมในช่วงถ่ายทอดสดได้ หรือไม่เช่นนั้นก็สามารถดูย้อนหลังได้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ารูปแบบการทำงานเดิมจะเปลี่ยนไปเสียหมด หากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะกลับมาดำเนินการในรูปแบบเดิม
สำหรับผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมต้องตื่นตัวและเป็นผู้ตระหนักรู้ตลอดเวลา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบไม่หยุดนิ่ง เพราะในฐานะที่เป็นแพทย์มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้จะไม่สิ้นสุดเร็ว ซึ่งการแพร่ระบาดจะยังคงอยู่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีจากนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดในทั่วโลกก็ยังเกิดขึ้นอยู่ และธรรมชาติของเชื้อไวรัสก็จะมีการกลายพันธุ์
“วันนี้วัคซีนรักษาโควิด-19 ที่นักวิจัยกำลังพัฒนานั้น เป็นวัคซีนที่ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์แรกๆ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า เชื้อไวรัสดังกล่าวจะกลายพันธุ์ไปเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องตั้งรับการวนเวียนของเชื้อไวรัสนี้ที่จะยังคงอยู่กับเราไปอีกหลายปี”
อย่างไรก็ตาม วันนี้เรายังไม่ได้ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เรากำลังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดอยู่ เพียงแต่เราสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้เท่านั้น
บางอย่างอาจไม่มีวันหวนกลับคืนมาเหมือนเดิม
การดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมบางอย่างอาจจะหวนกลับมาเป็นเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 ได้ 100% แต่ในบางอุตสาหกรรมและธุรกิจบางอย่างอาจจะกลับมาได้แต่ต้องปรับตัวมากๆ ซึ่งผู้บริโภคอาจจะปรับพฤติกรรมไม่ใช้อะไรที่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตัวอย่างเช่น ท่องเที่ยว โรงแรม การบิน อาจจะได้รับผลกระทบยาวนาน แต่ก็มีวันที่จะกลับไปได้เหมือนเดิม 100% ในอนาคต ดังนั้น การปรับตัวทางเทคโนโลยี รวมถึงการรักษาแบรนด์ไว้ให้อยู่ในใจผู้บริโภคเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่ชั่วพริบตาเดียวแบรนด์อาจถูกทำลายลงได้
ขณะเดียวกัน รูปแบบของธุรกิจขายตรงแบบที่เป็นการเคาะประตูบ้านหรือการนัดเจออาจจะหายไป แต่ความเป็นเครือข่ายยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นการเจอกันบนออนไลน์ โดยยังมีการดูแลสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเช่นเดิม
ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดผู้บริโภคยังต้องการดูแลรักษาตัวเองในด้านความสวยความงาม ความอ่อนเยาว์ และสุขภาพ ซึ่งยังเป็นเทรนด์ที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสั่งซื้อมากในปัจจุบันและจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต ดังนั้น สินค้าในกลุ่มสกินแคร์ สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยังเป็นสิ่งหลักที่ผู้บริโภคสนใจ
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตาคือ ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลอยู่ในใจและจะอยู่ไปอีกหลายปี บริษัทจึงต้องเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้นหลังจากนี้ จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่เพียงราว 3-5% ของสินค้าทุกกลุ่ม
ประกอบกับแผนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หลังจากนี้จะโฟกัสผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหลักๆ เพียง 5-7 ผลิตภัณฑ์/ปี ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค จากเดิมอยู่ที่ 20 ผลิตภัณฑ์/ปี ซึ่งปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคตัดสินใจคือ 1.แบรนด์ 2.ผู้นำเสนอ และ 3.ราคา
จากการปรับตัวและแผนธุรกิจของกิฟฟารีนข้างต้น ส่งผลให้ในปี 2563 ตัวเลขยอดขายของบริษัทจะอยู่ที่มากกว่า 5,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน จากปีก่อนอยู่ที่ราว 4,980 ล้านบาท ซึ่งจะกล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้กระทบกับกิฟฟารีนก็คงจะไม่ผิด เพียงแค่เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไปจากเดิมเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กิฟฟารีน อัดงบ 200 ล้านบาทรุกทุกแพลตฟอร์ม หวังดันเป้าปี’63 โต 5-10%