นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอสังหาฯประเภทให้เช่าเชิงพาณิชย์ เนื่องจากลูกค้าที่เป็นผู้เช่าไม่มีความสามารถในการชำระค่าเช่าเหมือนก่อนโรคระบาด ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยก็ทำให้จำนวนผู้เช่าลดลง เหล่านี้กำลังส่งผลกระทบเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่รายได้ลดลง และต้องพยายามรักษาระดับกำไรให้คุ้มค่ากับการลงทุนก่อนหน้านี้
ไฟแนนเชียล ไทมส์รายงานว่า จากข้อมูลสำรวจของ “ดาเทกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ โซลูชันส์” (Datex Property Solutions) บริษัทข้อมูลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เช่าอสังหาฯที่ชำระค่าเช่าตรงตามกำหนดราว 58.6% ของตลาดเช่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ขณะที่อีกเกือบครึ่งหนึ่งยังคงค้างชำระ
“รีมิต คอนซัลติ้ง” บริษัทที่ปรึกษาจัดการอสังหาริมทรัพย์ในยุโรประบุว่า ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งแบบที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ 18,350 แห่งในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ก็ประสบปัญหาลูกค้าค้างชำระค่าเช่าในสัดส่วนสูงเกือบ 60% สาเหตุจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้การเดินทางของผู้คนทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้เจ้าของอสังหาฯแบบที่พักอาศัยมีรายได้ลดลง
จากจำนวนชาวต่างชาติที่หายไป ประกอบกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ผู้เช่าในประเทศลดลงด้วย โดยบางส่วนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ตรงเวลาหรือเต็มจำนวนตามสัญญาเช่าสำหรับตลาดให้เช่าอสังหาฯเชิงพาณิชย์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะธุรกิจจำนวนมากขาดรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่าง
ค้าปลีกแบรนด์หรูที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ผู้เช่าขาดรายได้
สำหรับค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจและเรื่อง “สัญญาเช่า” อสังหาริมทรัพย์กำลังเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมความยากลำบากของผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย เพราะสัญญาที่ทำขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 กำหนดค่าเช่าค่อนข้างสูงแบบคงที่ และยังมีค่าปรับมหาศาลกรณียกเลิกสัญญา ทำให้ผู้เช่าต้องเผชิญทางตัน เพราะไม่มีความสามารถทั้งในการจ่ายค่าเช่าและค่าปรับหากต้องการยกเลิกสัญญา ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ผู้เช่าจำนวนมากล้มละลาย
“ชิป เบิร์ก” ซีอีโอของ “ลีวาย สเตราส์” ระบุว่า “สัญญาค่าเช่าแบบคงที่โดยเฉพาะที่ทำขึ้นก่อนโควิดระบาด จะกลายเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมความเจ็บปวดของธุรกิจ เนื่องจากเราต้องจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ทั้งต้องทำความสะอาดและจัดมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราเพียงต้องการให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดนี้”
ปัจจุบันผู้เช่าจำนวนมากได้เรียกร้องให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ปรับแก้สัญญาค่าเช่าให้อิงกับผลประกอบการของภาคธุรกิจที่เช่าอยู่อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถพยุงกิจการต่อไปได้
ขณะนี้ธุรกิจยักษ์ใหญ่บางแห่งอย่างเช่น “เอเอ็มซี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เชนโรงภาพยนตร์ของสหรัฐ, “ซินีเพกซ์” เชนโรงภาพยนตร์ของแคนาดา และ “ออลล์เซนต์ส” ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นระดับโลก ได้บรรลุการเจรจาขอเปลี่ยนสัญญาค่าเช่าแบบไม่คงที่ได้แล้ว เนื่องจากผู้ให้เช่ามองว่าการได้รับค่าเช่าน้อยลงดีกว่ามีผู้เช่าที่ล้มละลาย
อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอย่างฝรั่งเศส เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง “ยูนิเบล” และ “เคลปิแยร์” ยังคงไม่ยินยอมเปลี่ยนสัญญาเช่า หลังจากกลุ่มสมาคมธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกราว 30 แห่งร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเจรจาให้ผู้ให้เช่าปรับเปลี่ยนสัญญา
“บริซ โรเช” หนึ่งในผู้นำการเรียกร้องดังกล่าว เป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงาม “อีฟ โรเช” และแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก “เปอติ บาโต” ระบุว่า ร้านสาขาราว 800 แห่งทั่วฝรั่งเศสมียอดขายลดลงอย่างมาก กระทั่งบริษัทต้องตัดสินใจปิดร้านย่านบูเลอวาร์ด โอสมานน์ ในกรุงปารีส จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เราสูญเสียรายได้จากร้านสาขาต่าง ๆ และเราพยายามขอเปลี่ยนสัญญาค่าเช่าแบบไม่คงที่ แต่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่ยินยอม