ผลสำรวจ “ความพร้อมด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทย (2020 Asia Pacific SMB Digital Maturity Study)” ประจำปี 2563 โดย “ซิสโก้” และ “ไอดีซี” เผยว่า การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีไทย จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ได้ถึง 3.5 – 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.09 – 1.278 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567 ขณะเดียวกันช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จากการศึกษาซึ่งเจาะลึกถึงข้อมูลความท้าทายด้านดิจิทัล การให้ความสำคัญกับดิจิทัล การลงทุนทางดิจิทัล ทักษะด้านดิจิทัล และปัญหาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังเผชิญในวันนี้พบด้วยว่า เอสเอ็มอีที่มีความพร้อมทางด้านดิจิทัลมากกว่า “จะได้รับประโยชน์สองเท่าในแง่ของรายได้และผลผลิต” เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล
ชู ’ดิจิทัล’ สู้ศึกตลาดผันผวน
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า เอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักและเป็นเซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด จากแนวโน้มที่สถานการณ์มีโอกาสยาวนานและยืดเยื้อส่งผลให้ต้องแบกรับรายจ่ายทุกวัน ในขณะที่รายได้ลดลง
ดังนั้น เอสเอ็มอีวันนี้ต้องแสวงหาโอกาส เครื่องมือใหม่ๆ รวมถึงตัวช่วยที่จะทำให้สามารถกลับมาเดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและโมเดลธุรกิจที่ทันกับยุคสมัยมาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปได้เหมือนเดิม
ผลการศึกษาพบว่า 73% ของเอสเอ็มอีในประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ระบบดิจิทัลเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ขณะที่ 50% ยอมรับว่าการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลง คู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลและพวกเขาจำต้องก้าวตามให้ทัน มีเอสเอ็มอี 23% ที่กำลังพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ระบบดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีเพียง 3% ที่มองว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่กุญแจในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ด้านการลงทุนที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ การจัดซื้อและอัพเกรดซอฟต์แวร์ 20% ตามมาด้วยการจัดซื้อและอัพเกรดฮาร์ดแวร์ 15% เทคโนโลยีคลาวด์ 11% ซิเคียวริตี้ 10% เอไอและอนาไลติกส์ 9% การจัดซื้อและอัพเกรดไอทีอินฟราสตรักเจอร์ส่วนมิดเดิลแวร์ 9% และการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า 7%
เอ็มดีซิสโก้เผยว่า การสำรวจครั้งนี้เห็นได้ว่าเอสเอ็มอีไทยมีความก้าวหน้าในการปรับใช้เทคโนโลยีไอทีอย่างมาก โดยอยู่ในขั้นที่ 2 “Digital Observer” บริษัทที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล แต่ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และเป็นโครงการขนาดเล็ก จากทั้งหมด 4 ขั้นของดัชนีความพร้อมทางด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งหากเทียบในระดับอาเซียนด้วยกันสามารถแซงหน้ามาเลเซียและขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ของภูมิภาค เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น
สำหรับกลุ่มที่มีการปรับตัวได้โดดเด่น คือเฮลธ์แคร์ ในโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมีการพัฒนาระบบการทำงานเพื่อรองรับนิวนอร์มอล แต่ทั้งนี้ที่สำคัญต้องสร้างทิศทางที่ทำให้ทุกกลุ่มธุรกิจขยับไปด้วยกัน ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ด้านปัญหาที่ต้องเผชิญ ถูกท้าทายด้วยการขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ 20% รองลงมาได้แก่ การไม่มีโรดแมพในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล 18% และการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น 15%
เขากล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สถานศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่เอสเอ็มอีต้องเผชิญ เพราะคงไม่มีองค์กรใดสามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้โดยลำพัง
“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของเอสเอ็มอีจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูธุรกิจและช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของไทย หากมีทรัพยากรจากทางรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมจะยิ่งเป็นการเร่งให้การพัฒนาดีขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่น่าสนใจเช่นแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้กับทั้งองค์กรขนาดเล็กและขนาดใหญ่”
สำหรับในภาพรวมเอเชียแปซิฟิก การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีจะเพิ่มมูลค่า 2.6 – 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 80 – 100 ล้านล้านบาทให้กับจีดีพีของภูมิภาคภายในปี 2567 ข้อมูลคาดการณ์ของไอดีซีระบุด้วยว่า จีดีพีของเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตประมาณ 10.6 – 14.6 ล้านล้านดอลลาร์ และการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของการเติบโตดังกล่าว
ผลการศึกษาชี้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เอสเอ็มอีเกือบ 70% เร่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล โดย 86% เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจและทำให้สามารถรับมือกับวิกฤติการณ์ในอนาคตได้
การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลถือเป็นภารกิจที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เอสเอ็มอีต้องเปลี่ยนย้ายไปสู่ระบบดิจิทัล จำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพิ่มความยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น