เป็นความโศกเศร้าของคนวงการกีฬา ไม่เพียงแต่เฉพาะวอลเลย์บอลกับเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อ “โก ยูมิน” สตาร์ดังของทีมวอลเลย์บอล “ฮุนไดฯ” สโมสรดังของเกาหลีใต้ ตัดสินใจฆ่าตัวตายในบ้านพัก ทิ้งความฝันในเกมลูกยางด้วยวัยเพียง 25 ปี
โดยสาเหตุหลักที่เจ้าหน้าที่สันนิษฐานคือมาจาก “โรคซึมเศร้า”
จะว่าไปแล้ว สังคมแห่งการแข่งขันในระยะหลัง “โรคซึมเศร้า” เกิดขึ้นแทบทุกวงการอาชีพและชีวิตของคนทั่วไปในสภาวะที่กดดัน แต่สำหรับนักกีฬาที่มองว่ามีความอดทนสูง จึงอาจไม่พบเห็นได้บ่อยนัก
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ “ฆ่าตัวตาย” ของนักกีฬาที่เรียกว่าสุดช็อกและมาจากสาเหตุของโรคซึมเศร้าในยุคหลังก็น่าจะย้อนไปสักสิปปีก่อน
โลกรู้จักนักกีฬาที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองจาก “โรคซึมเศร้า” คือ “โรเบิร์ต เอ็งเค่” ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนี ที่กระโดดให้รถไฟชนเมื่อ ปี 2009
“เอ็งเค่” ประตูผู้มากความสามารถค้าแข้งอยู่หลายสโมสรดัง กระทั่งถูกดึงไป “บาร์เซโลน่า” ในยุค “หลุยส์ ฟานกัล” มีประวัติในการเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า ก่อนจะเสียชีวิต ส่วนสาเหตุน่าจะเกิดจากการสูญเสียบุตรสาวอายุ 2 ปี จากโรคหัวใจ
ครอบครัว คนรอบข้างรวมทั้งภรรยาของ “เอ็งเค่” พยายามช่วยเหลือและให้กำลังใจ แต่ไม่สามารถบรรเทาความโศกเศร้าของ “เอ็งเค่” ได้
อีกประเด็นจากแพทย์ที่เคยดูแลรักษา “เอ็งเค่” ยังเผยว่า อีกสาเหตุที่อาจจะเป็นต้นเหตุของโรคเริ่มจากความผิดหวัง หลังจาก “เอ็งเค่” เสียตำแหน่งผู้รักษาประตูมือ 1 ให้กับเด็กปั้น “วิคเตอร์ บัลเดซ” ในทีมบาร์เซโลน่าในปี 2003 กระทั่งมาสูญเสียบุตรสาว
ล้วนเป็นปมปัญหาให้ตกอยู่ในภาวะ “ซึมเศร้า”
ต่อมา ในปี 2011 วงการฟุตบอลต้องสุดช็อกกับการเสียชีวิตของ “แกรี่ สปีด” นักฟุตบอลชื่อดังในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อเขาตัดสินใจจบชีวิตด้วยการผูกคอตายจาก “โรคซึมเศร้า” ทั้งที่คนใกล้ชิดต่างยืนยันว่า “แกรี่ สปีด” ไม่มีวี่แววของความเศร้าซึมมาก่อนหน้านี้เลย
ขณะเดียวกัน “อลัน เชียร์เรอร์” ดาวยิงระดับตำนานทีมชาติอังกฤษ เพื่อนสนิทที่ได้พูดคุยกับ “แกรี่ สปีด” เป็นคนสุดท้าย ก่อนเสียชีวิต ก็ไม่พบความผิดปกติมาก่อน
กรณีของ “แกรี่ สปีด” นักจิตวิทยาวิเคราะห์สาเหตุอาจเป็นเพราะความสมบูรณ์แบบในอาชีพนักฟุตบอล เมื่อแขวนสตั๊ดจึงทำให้เครียด เพราะ “แกรี่ สปีด” อดีตคือยอดมิดฟิลด์ค้าแข้งกับหลายสโมสรโด่งดังกับ “นิวคาสเซิ่ล” ตลอด 22 ปีในการเป็นนักเตะ “แกรี่ สปีด” ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่ง
โดยติดทีมชาติเวลส์ 85 นัด ส่วนในพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลลีกลงเล่นถึง 535 นัด โดยแทบจะไม่มีอาการบาดเจ็บหนักรบกวนเนื่องจากเป็นนักเตะที่แข็งแกร่งและมีระเบียบวินัย หลังเลิกเล่นไปรับตำแหน่งกุนซือทีมชาติเวลส์ ก่อนจะเสียชีวิต
ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ จึงเป็นกรณีให้ศึกษาว่าทำไมถึงเป็น “โรคซึมเศร้า”
จากการเสียชีวิตของสองนักเตะดังทั้ง “แกรี่ สปีด” และ “โรเบิร์ต เอ็งเค่” ทำให้วงการฟุตบอลตื่นตัว และหลายทีมมีจิตแพทย์มาประจำเพื่อดูแลนักเตะ
และ “โรคซึมเศร้า” เป็นอาการที่รู้จักในวงกว้างขึ้นมาทันที ก่อนที่การฆ่าตัวตายจากความกดดันเรื่องกีฬาและภาวะโรคซึมเศร้าของนักกีฬาดูจะเงียบลงไป
กระทั่ง “ชเว ซุก ฮยอน” นักไตรกีฬาสาวดีกรีเยาวชนทีมชาติ วัย 22 ปี ได้เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลงที่เมืองปูซานด้วยการกระโดดตึกจากหอพัก เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา
สาเหตุของนักกีฬาหญิงดาวรุ่งอนาคตไกลรายนี้ไม่ซับซ้อนเพราะเธอทำบันทึกร่ายยาวถึงสาเหตุ ทำให้เธอเครียดและกดดัน รวมถึงซึมเศร้าที่เข้ามาประดังจนเธอไม่มีทางเลือก
“ชเว ซุก ฮยอน” บันทึกความเลวร้ายว่าเธอถูกโค้ช “คิม กิว บอง” และ “จาง ยุน จุง” นักไตรกีฬารุ่นพี่ เจ้าของเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2018 ทำร้ายทั้งวาจาและร่างกายของเธอนานร่วมปี
แถมมีคลิปหลักฐานของโค้ชที่สั่งห้ามไม่ให้เธอกินข้าวเป็นเวลา 3 วัน อ้างเป็นการลงโทษที่ทำผลงานไม่ดีและเธอยังถูกโค้ชสั่งให้กัดฟันก่อนที่จะถูกตบอย่างแรง
เท่านั้นยังไม่พอโค้ชยังเคยสั่งให้เธอกินขนมปังมูลค่า 200,000 วอนหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,236 บาท ให้หมดภายในครั้งเดียวแล้วให้อาเจียนออกมาเป็นการลงโทษหลังจากที่เธอดื่มโค้กไปในมื้อเที่ยง
โดยเธอเชื่อว่าที่ถูกทำร้ายและกลั่นแกล้งจากโค้ชและนักกีฬารุ่นพี่ เพราะเขากลัวว่าเธอจะเก่งกว่า
“ชเว ซุก ฮยอน” ถือเป็นดาวรุ่งของไตรกีฬา เกาหลีใต้ เมื่อทำผลงานได้โดดเด่นในระดับเยาวชน และคว้าอันดับ 4 ในปี 2016 ประเภทบุคคลหญิงศึกไตรกีฬาชิงแชมป์เกาหลีใต้
จนก้าวติดทีมชาติกระทั่งมาเจอกับสิ่งที่เลวร้ายจนทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
จนมาถึงรายล่าสุด ” โก ยูมิน” นางฟ้านักตบของทีมฮุนได วัย 25 ปี ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายในบ้านพัก กระทั่งมีเพื่อนมาพบศพเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า ภายหลังเธอมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจในการเล่นวอลเลย์บอล
จากเดิมเป็นดาวตบหัวเสาดาวรุ่งของทีม ร่วมกับ “อี ดายอง” มือเซตเพื่อนสนิทที่ก้าวติดทีมชาติไปแล้ว สวนทางกับ “โก ยูมิน” ที่ฟอร์มตกจนถูกโค้ชจับไปเล่นในตำแหน่งตัวรับอิสระ หรือ “ลิโบโร่” ในฤดูกาลล่าสุด
ความเครียดที่กดดันจนยากที่จะรับได้ “โก ยูมิน” ลาออกจากทีมเมื่อเดือนมีนาคม ก่อนกลับไปเก็บตัวเงียบในบ้านพัก กระทั่งพบว่าเธอฆ่าตัวตาย
การตายของนักกีฬาเหล่านี้ด้วยโรคซึมเศร้า ถือเป็นอุทธาหรร์อย่างดีสำหรับการใช้ชีวิตในสภาวะการแข่งขันสูง ต้องอยู่ในสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งกว่าร่างกาย
และการตายของเหล่านักกีฬาหวังว่าจะปลุกให้ทุกคนหันมาดูแลจิตใจกันมากขึ้น