บลูมเบิร์ก สำนักข่าวชื่อดังด้านเศรษฐกิจและการเงิน จัดอันดับ “ตระกูลรวยที่สุดในโลก” แม้ขณะนี้เศรษฐกิจและคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เจ้าไวรัสร้ายก็ไม่อาจหยุดยั้งความมั่งคั่งของพวกเขาได้
อันดับ 1 ตระกูลวอลตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท วอลมาร์ท ธุรกิจร้านค้าปลีก มูลค่าทรัพย์สิน 2.15 แสนล้านดอลลาร์
ตำนานร้านวอลมาร์ทเริ่มต้นในปี 2488 และปัจจุบันตกทอดถึงทายาทรุ่นที่ 3 โดยวอลมาร์ทเป็นร้านค้าปลีกที่มีรายได้มากที่สุดในโลก ด้วยยอดขาย 5.24 แสนล้านดอลลาร์จากร้านค้ามากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งตระกูลวอลตันถือหุ้นราวครึ่งหนึ่งของวอลมาร์ท
รู้หรือไม่? ในปีที่ผ่านมา ทรัพย์สินตระกูลวอลตันเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยราว 3 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง!
อันดับ 2 ตระกูลมาร์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท มาร์ส ธุรกิจลูกกวาดและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง มูลค่าทรัพย์สิน 1.20 แสนล้านดอลลาร์
ตระกูลมาร์สทำธุรกิจเกี่ยวกับลูกกวาดและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยธุรกิจของตระกูลมาร์สเป็นที่รู้จักดี จากแบรนด์ขนมชื่อดังอย่าง M&Ms, Milky way และ Mars Bar แต่ปัจจุบันธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงสร้างรายได้ราวครึ่งหนึ่งของบริษัท จากรายได้ทั้งหมดมากกว่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์
อันดับ 3 ตระกูลคอค ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท คอค อินดัสทรี ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม มูลค่าทรัพย์สิน 1.09 แสนล้านดอลลาร์
2 พี่น้องเฟร็ดและวิลเลียม ออกจากบริษัทน้ำมันของตระกูล เพราะปัญหาภายในหมู่พี่น้อง จากนั้นได้ก่อตั้ง คอค อินดัสทรี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีรายได้มากถึง 1.15 แสนดอลลาร์ต่อปี โดยทางครอบครัวแบ่งผลประโยชน์ผ่านบริษัทที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
อันดับ 4 ตระกูลกษัตริย์ อัล ซาอุด ประเทศซาอุราเบีย มูลค่าทรัพย์สิน 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ราชวงศ์อัล ซาอุด ครอบครองทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของราชวงศ์ อย่างไรก็ดี ความมั่งคั่งโดยรวมของสมาชิกราชวงศ์ ที่ประเมินว่ามีอยู่ราว 15,000 คน มีแนวโน้มที่จะสูงกว่านี้อย่างมาก โดยสมาชิกราชวงศ์จำนวนมากทำรายได้ผ่านการเป็นนายหน้าในการทำสัญญากับภาครัฐ การซื้อขายที่ดิน รวมถึงการทำธุรกิจที่ให้บริการภาครัฐ เช่น ซาอุดี อารัมโก
อันดับ 5 ตระกูลแอมบานี ประเทศอินเดีย บริษัท รีไลแอนซ์ อินดัสตรีส์ ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม มูลค่าทรัพย์สิน 8.13 หมื่นล้านดอลลาร์
ตระกูลแอมบานีเริ่มตั้งบริษัท รีไลแอนซ์ อินดัสตรีส์ ในปี 2500 ปัจจุบัน มูเกช แอมบานี ลูกชายคนโตเป็นผู้นำธุรกิจของตระกูลซึ่งมีฐานอยู่ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยเครือบริษัทครอบครองกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงทำธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม และอื่นๆ
อันดับ 6 ตระกูลแอร์เมส ประเทศฝรั่งเศส บริษัท แอร์เมส ธุรกิจสินค้าหรู มูลค่าทรัพย์สิน 6.39 หมื่นล้านดอลลาร์
ต้นตระกูลแอร์เมสเริ่มธุรกิจในปี 2380 และต่อมาได้กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ในระดับโลก โดยปัจจุบันสมาชิกของตระกูลยังอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของบริษัท เช่น ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และประธานบอร์ด
รู้หรือไม่? หลังจากต้องปิดร้านเพราะไวรัสโควิด-19 และได้กลับมาเปิดร้านอีกครั้ง ร้านแอร์เมสในประเทศจีนทำสถิติยอดขายสูงสุดมากกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว
อันดับ 7 ตระกูลเวอร์ไธเมอร์ ประเทศฝรั่งเศส บริษัท ชาแนล ธุรกิจสินค้าหรู มูลค่าทรัพย์สิน 5.44 หมื่นล้านบาท
2 พี่น้องตระกูลเวอร์ไธเมอร์ได้รับผลประโยชน์จากรุ่นปู่ของพวกเขา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนให้กับโคโค่ ชาแนล โดยปัจจุบัน ชาแนล แบรนด์แฟชั่นหรูครอบครองโดยตระกูลเวอร์ไธเมอร์และสร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาทในปีที่ 2562 นอกจากนี้พวกเขายังมีธุรกิจม้าแข่งและไร่องุ่นอีกหลายแห่งด้วย
อันดับ 8 ตระกูลจอห์นสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท ฟิเดลลิตี้ อินเวสเมนท์ ธุรกิจด้านการเงิน มูลค่าทรัพย์สิน 4.63 หมื่นล้านบาท
ตระกูลจอห์นสันสร้างอาณาจักรกองทุนรวมในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในปี 2489 โดยปัจจุบันรุ่นหลานเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ แม้ธุรกิจยังเติบโตได้ดี แต่ก็ได้รับแรงกดดันให้หั่นค่าธรรมเนียและค่านายหน้าจากพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป
อันดับ 9 ตระกูลโบริงเยอร์ วอน บอมแบค ประเทศเยอรมัน บริษัท โบริงเยอร์ บอมแบค ธุรกิจยา มูลค่าทรัพย์สิน 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์
บริษัท โบริงเยอร์ บอมแบค ก่อตั้งเมื่อ 130 กว่าปีก่อนในประเทศเยอรมัน โดยตระกูลโบริงเยอร์ยังดูแลและถือหุ้นในธุรกิจอยู่ปัจจุบัน
อันดับ 10 ตระกูลอัลเบร็ชท์ ประเทศเยอรมัน บริษัทอัลดี้ ธุรกิจร้านค้าปลีก มูลค่าทรัพย์สิน 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์
2 พี่น้องตระกูลอัลเบร็ชท์เข้าดูแลร้านขายของชำต่อจากพ่อแม่ หลังกลับจากการร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นได้พัฒนาร้านดังกล่าวเป็นอัลดี้ เครือร้านค้าปลีกราคาประหยัดสัญชาติเยอรมัน โดยปัจจบันมีสาขารวมกันมากกว่า 10,000 แห่ง
อันดับ 21 ตระกูลเจียรวนนท์ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเทศไทย ธุรกิจหลากหลาย มูลค่าทรัพย์สิน 3.07 หมื่นล้านดอลลาร์
ต้นตระกูลเจียรวนนท์อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนและเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศไทย ด้วยธุรกิจขายเมล็ดผักกับพี่น้องในปี 2464 เกือบหนึ่งศตวรรษให้หลัง ธนินท์ เจีรยวนนท์ ผู้เป็นลูกชายดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสเครือเจริญโภคกัณฑ์ (CP) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจอาหาร ร้านค้าปลีก และโทรคมนาคม
“ตระกูลรวยที่สุดในโลก” หลายครอบครัว ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
บลูมเบิร์กแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ปีนี้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่เหล่า ตระกูลร่ำรวยที่สุดในโลก หลายตระกูล ก็ยังมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ตระกูลวอลตัน เจ้าของร้านค้าปลีกวอลมาร์ท ซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลก มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 2.15 แสนล้านดอลลาร์ โดยการลงทุนในซัพพลายเชนและธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของวอลมาร์ท ทำให้ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับธุรกิจร้านค้าปลีกส่วนใหญ่ในสหรัฐที่กำลังล้มตาย
“หนึ่งในสิ่งที่มีพลังของการส่งต่อความมั่นคั่งในตระกูล คือ พวกเขามีวิสัยทัศน์ระยะยาว” ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำต่อตระกูลที่มีความมั่นคั่งในระดับสูงกล่าว “ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมรับมือทั้งสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘บลูมเบิร์ก’ จัดอันดับ ‘ตระกูลเจียรวนนท์’ ขึ้นอันดับ 21 ‘มหาเศรษฐีโลก’
- มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กแซงวอร์เรน บัฟเฟตเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกอันดับสามแล้ว
- ไม่หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัว ‘วอลมาร์ท’ เดินหน้าเปิดสาขาจีนเพิ่ม 500 แห่ง
Add Friend Follow