เผยแพร่:
โดย: สามารถ มังสัง
พจนานุกรมของฝรั่งเล่มหนึ่ง ได้นิยามคำว่า Politics ว่าคือการต่อสู้เพื่ออำนาจ (Struggle for Power) และอำนาจที่ว่านี้ คงจะหมายถึงอำนาจอันเกิดจากการมีตำแหน่งหน้าที่ (Authority Power) ในภาครัฐ เพราะอำนาจประเภทนี้ทำให้ผู้มีอำนาจได้รับผลประโยชน์ ทั้งในทางสังคม และทางด้านการเงิน คือได้ทั้งเงิน และชื่อเสียง
ด้วยเหตุนี้ การเมืองจึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่ต้องการอำนาจ เพื่อจะได้อำนาจนั้นเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งโดยชอบธรรม และมิชอบธรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิธีการในการเข้ามาสู่ความเป็นนักการเมืองของแต่ละคนเป็นสำคัญ
ในความเป็นที่ปรากฏในวงการเมืองสามารถแบ่งนักการเมืองออกเป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้
1. เข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนักการเมือง และข้าราชการประจำ ซึ่งอาศัยอำนาจรัฐแล้วรังแกธุรกิจซึ่งไม่มีเส้นสายทางการเมือง
2. เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยอำนาจรัฐ ทั้งโดยชอบ และโดยมิชอบ และนักการเมืองประเภทนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดนักการเมืองประเภทที่หนึ่ง
3. ทั้งเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มเติม
4. เข้ามาเพื่อรับใช้ประเทศ และประชาชน โดยการใช้ความรู้ ความสามารถซึ่งตนเองมีอยู่พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยยึดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก
ในนักการเมือง 4 ประเภทข้างต้น เมื่อพิจารณาดูจากพฤติกรรมทางการเมือง ทั้งในส่วนของพฤติกรรมองค์กร คือ การดำเนินกิจกรรมของพรรค และพฤติกรรมของบุคคลทางการเมือง อันเป็นปัจเจกหนึ่งแต่ละคนแล้ว จะพบว่า ประเภทที่ 1-3 มากที่สุด ส่วนประเภทที่ 4 มีอยู่น้อยที่สุด ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ในการเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.แต่ละครั้งจะมีการทุจริตโดยการซื้อสิทธิขายเสียงมากที่สุด และผู้ที่ได้รับเลือกจากการทุจริตจะวิ่งหาตำแหน่ง ซึ่งมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อเป็นช่องทางในการถอนทุนเงินที่จ่ายไปในการเลือกตั้ง และเหลือไว้เป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป รวมไปถึงไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้แก่บริวาร เพื่อคอยปกป้องตนเองในทางการเมือง
2. ในการเข้าร่วมรัฐบาล จะต้องต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่มีอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์
3. เมื่อเข้าร่วมเป็นรัฐบาล และตนเองไม่ได้ตำแหน่งที่ต้องการ ก็พยายามตีรวนเพื่อให้การปรับ ครม.เผื่อว่าตนเองจะได้วิ่งเต้นต่อรองให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่ต้องการ
ในขณะที่เขียนบทความนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้ง โดยมีพรรคร่วมหลายพรรคกำลังอยู่ระหว่างการปรับ ครม.อันเนื่องมาจากรัฐมนตรีหลายคนได้ลาออก และจากการปรับ ครม.นี้เอง ทำให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองประเภท 2 และ 3 ที่พยายามวิ่งเต้นต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งในกระทรวงที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพลังงานที่มีหน่วยงานในสังกัดที่มีโครงการในการลงทุนขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ ปตท. และ กฟผ.
จากการวิ่งเต้นต่อรองในครั้งนี้ ทำให้เห็นอนาคตของเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ชัดเจนว่า มิได้เป็นไปในรูปแบบที่ฝรั่งยึดถือโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ขึ้นต้นเหมือนกันลงท้ายต่างกันคือ โดยประชาชน แต่เพื่อตนเองและพวกพ้อง
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ถ้านักการเมืองส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเภท 2 และ 3 ประเทศนี้ก็หนีไม่พ้นการเข้ามาขัดตาทัพของระบอบเผด็จการ เพียงแต่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้น