“เมเจอร์ฯ” ต่อยอดธุรกิจโรงหนัง สู่น็อนมูฟวี่ เดินหน้าจัดไลฟ์สตรีมมิ่ง-คอนเสิร์ต-ให้เช่าพื้นที่งานแต่ง หวังชดเชย-ช่วยเพิ่มรายได้ ควบผนึกพันธมิตรสร้างหนังไทยตีตลาด หลังหนังฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศ เลื่อนโปรแกรมเข้าโรงยาว พร้อมเดินหน้าขยายสาขาปูพรมต่างจังหวัด-ซีแอลเอ็มวี ตามแผน มั่นใจหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติอุตสาหกรรมโรงหนังพลิกฟื้น
นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR เปิดเผยว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้ประกาศคลายล็อกมาถึงระยะที่ 5 โดยอนุญาตให้โรงภาพยนตร์สามารถเปิดให้บริการ โดยการเว้นระยะที่นั่งห่างกัน 2 ที่นั่ง ต่อ 1 คน และไม่มีการเว้นระยะแถว จากเดิมที่ต้องเว้นระยะห่าง 2 แถว โดยขณะนี้สามารถเปิดให้บริการที่นั่งได้ประมาณ 70%
แต่อีกด้านหนึ่งพบว่าอัตราการกลับมาใช้บริการเหลือเพียง 20% เนื่องจากโปรแกรมหนังต่างประเทศฟอร์มใหญ่ได้เลื่อนการฉายออกไป อาทิ มู่หลาน ที่เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด นอกจากนี้ยังมี Top Gun : Maverick รวมทั้งหนัง TENET ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งยืนยันแล้วว่าจะออกฉายปีนี้ และอีกหลายเรื่องที่จะออกมาในไตรมาส 4
“ต้องยอมรับว่าครึ่งปีหลังนี้จะเป็นปีทองของหนังไทย ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าและสร้างรายได้ในช่วงนี้ เพราะก่อนหน้านี้พฤติกรรมคนดูจะเลือกชมภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ แต่ปัจจุบันหนังใหญ่บางเรื่องประกาศเลื่อนโปรแกรมไปปีหน้า ส่งผลให้เมเจอร์ฯต้องจัดโปรแกรมรีรันหนังเก่าค่อนข้างมาก เพื่อรอที่จะนำหนังใหม่เข้ามาฉาย”
ผนึกพันธมิตรสร้างหนัง
นายนรุตม์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เมเจอร์ฯ ยังได้ร่วมมือกับสตูดิโอและผนึกพันธมิตรสร้างภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดมากขึ้น โดยคาดว่าปี 2564 จะมีหนังไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เรื่อง เพื่อตอบโจทย์คนดูทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และยังสามารถหารายได้จากจออื่น ๆ ทั้งต่างประเทศ และสตรีมมิ่งค่ายต่าง ๆ
“ควบคู่กับการจัดกิจกรรมการตลาดส่งเสริมการขายผ่านบัตร M PASS นักเรียน ให้ลูกค้าดูหนังในโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ฯ สำหรับที่นั่งปกติได้ทุกเรื่อง แบบเหมาจ่ายไม่อั้นจำนวนครั้ง/รอบ ในอัตรา 200 บาทต่อเดือน และเน้นขายบัตร M PASS Regular บุคคลทั่วไปอายุ 23 ปีขึ้นไป สามารถสมัครแพ็กเกจรายปี ดูหนังเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 300 บาท ปัจจุบันสมาชิกบัตรที่มากกว่า 1 แสนราย แบ่งเป็น นักเรียน 90% และผู้ใหญ่ 10% โดยมีเป้าจะเพิ่มสัดส่วนให้ได้เท่า ๆ กัน”
- โรงหนังเดือด เอสเอฟ-เมเจอร์ฯ แข่งเปิด “ไดร์ฟอิน” ดึงคนดู
- “เอ็มเค สุกี้” แตะเบรกสาขา โฟกัสร้านทำกำไร-ประคองตัว
นายนรุตม์กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานจากนี้ บริษัทได้ต่อยอดจากธุรกิจโรงภาพยนตร์สู่ธุรกิจน็อนมูฟวี่ โดยจากนี้เมเจอร์ฯจะไม่ได้มีเพียงคอนเทนต์หนัง แต่จะไปในโมเดลใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ทั้งการจัดไลฟ์สตรีมมิ่งซีรีส์จากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น โดยตอนนี้มีโปรแกรมฉายประมาณ 10 เรื่อง ในราคา 1,200 ต่อคน ตอนนี้เริ่มประเดิมทำ 3 โรง รองรับได้ 2,000 ที่นั่ง ตลอดจนการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตต่าง ๆ จัดงานอบรมสัมมนาไลฟ์สด และเปิดให้เช่าพื้นที่จัดงานแต่งงาน ขณะนี้เริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว โดยโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะเข้ามาเพิ่มสัดส่วนของรายได้รวมประมาณ 5%
ขยายสาขา
ส่วนการขยายสาขา ยังคงแผนเดิมที่จะเปิด 40 โรง เน้นในบิ๊กซีและเทสโก้ โลตัส เพื่อเจาะฐานคนดูในต่างจังหวัด ส่วนต่างประเทศจะโฟกัสไปที่ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ที่ตลาดมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ฯมีรายได้ แบ่งเป็น จากการขายตั๋ว 70% ป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม 20% และโฆษณา 10% ช่วงที่โรงภาพยนตร์ปิดให้บริการลูกค้าที่ลงโฆษณาในโรงภาพยนตร์ยังไม่ได้ตัดงบฯ แต่เปลี่ยนไปใช้ผ่านสื่อออนไลน์ของเมเจอร์ฯแทน ไม่มีการยกเลิกโฆษณา
“อย่างไรก็ตาม หลังจากปิดให้บริการไปกว่า 3 เดือน ถ้าเราจะชดเชยรายได้ ต้องทำยอดขายให้ได้เท่าตัว โดยเป้าหมายปีนี้ไม่ได้หวังเติบโต แต่เน้นประคับประคองยอดขายให้ลดลงน้อยสุด โดยประเมินว่าหากสถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าจะมีมาตรการคลายล็อกมากขึ้น และจะทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังนี้”
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ พบว่า ขาดทุนสุทธิ 255 ล้านบาท ลดลง 469 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 219 โดยมีปัจจัยหลัก ๆ จากการมีรายได้รวม 1,322 ล้านบาท หรือลดลง 1,078 ล้านบาท หรือร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดดำเนินการของธุรกิจโรงหนังทุกสาขาและการงดเว้นกิจกรรมตามมาตรการของภาครัฐ