เป็นที่ทราบดีแล้วว่า ธุรกิจครอบครัว เป็นธุรกิจที่เป็นส่วนใหญ่ในจำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดในโลก
ดังนั้น ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นที่ประสบความสำเร็จ และเกี่ยวข้องกับความสามารถของธุรกิจครอบครัวที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจเอสเอ็มอีของประเทศ
การสืบทอดธุรกิจครอบครัว จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อของงานวิจัยเชิงวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก เพื่อค้นหาว่า ปัจจัยสำคัญในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวคืออะไร?
เนื่องจากธุรกิจครอบครัว เป็นความเชื่อมโยงอย่างแทบจะแยกกันไม่ได้ระหว่าง การบริหารธุรกิจและการบริหารครอบครัว การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัว ซึ่งจะต้องบริหารทั้งธุรกิจและครอบครัวในเวลาเดียวกันให้มีความกลมกลืนไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีลักษณะแตกต่างจากธุรกิจที่บริหารงานโดยลูกจ้างหรือนักบริหารมืออาชีพอย่างชัดเจน
กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ จึงมักได้แก่ ผู้นำธุรกิจในรุ่นปัจจุบัน ทายาทธุรกิจในรุ่นต่อไป และสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัวที่มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับธุรกิจของครอบครัว
และปัจจัยสำคัญที่จะมีบทบาทในการทำลายความต่อเนื่องยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว มักจะเกิดจากการตัดสินใจของทายาทธุรกิจที่จะเลือกไม่เข้าสานต่อธุรกิจของครอบครัวนั่นเอง
PwC ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลก ได้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทายาทธุรกิจนำมาพิจารณาว่า จะสานต่อกิจการของครอบครัวอย่างไร มีอยู่ 4 ประการ ที่อาจเรียกได้ว่า 4S’s ซึ่งได้แก่
Skills ทักษะที่ทายาทธุรกิจมีอยู่ สอดคล้องหรือทิศทางการดำเนินธุรกิจปัจจุบันของครอบครัวหรือไม่ จะสามารถสร้างหรือปรับทักษะ ให้กลับเข้ามาสู่ทิศทางที่ผู้นำปัจจุบันและสมาชิกครอบครัวคาดหวังไว้หรือไม่
Scale ขนาดของธุรกิจ ตางกับเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ความคาดหวังของทายาทธุรกิจหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งความคาดหวังที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตพอที่จะแข่งขันและอยู่รอดต่อไปได้ ไปจนกระทั่งถึงการมุ่งหวังสร้างความเติบโตให้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด
Succession กระบวนการส่งมอบธุรกิจที่รุ่นปัจจุบันเตรียมตัวสำหรับทายาทรุ่นต่อไป ตรงกับใจหรือยอมรับได้สำหรับทายาทหรือไม่ ทายาทบางคนต้องการที่จะรับการดูแล ปกป้อง และสนับสนุน เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้ก่อน ในขณะที่ทายาทบางคน ต้องการที่จะสร้างพื้นฐานและการยอมรับด้วยตนเอง
Stakeholders ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในครอบครัว ภายในธุรกิจ และผู้มีส่วนได้เสียมีท่าทีหรือการแสดงออกอย่างไรต่อทายาทธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึง ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน และพนักงาน ที่เป็นผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัว อีกด้วย
นอกจากนี้ Juliette Johnson ที่ปรึกษาอิสระของสถาบัน INTES ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัวในประเทศเยอรมัน ได้สรุปสิ่งต่างๆ ที่ได้ค้นพบว่า ทายาทธุรกิจจะเกิดแรงจูงใจในการเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว 10 ประการที่สำคัญ ดังนี้
1) การได้มีโอกาสเข้าสัมผัสกับการบริหารกิจการของครอบครัว เช่น ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานธุรกิจในระหว่างปิดภาคเรียนก่อน โดยยังไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารแต่อย่างใด 2) การได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์จากการทำงานภายนอกครอบครัวก่อนการเข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการของครอบครัว 3) การได้รับบทบาทบริหารธุรกิจที่ตรงกับความชอบหรือทักษะความรู้ส่วนตัวที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือที่เชื่อว่าตัวเองจะเข้าไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจของครอบครัวได้
4) การมีความอิสระในการดำรงสถานะในการทำงานที่เป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพนักงานเก่าแก่ ที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย การวางตัวกับพนักงานต่างๆ เป็นต้น
5) การไม่ต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดันจากผู้นำรุ่นปัจจุบันหรือสมาชิกอาวุโสอื่นในครอบครัว 6) ได้มีโอกาสในการทราบสถานะทางการเงิน ทรัพย์สินหนี้สิน และความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจ ฯลฯ ก่อนการตัดสินใจเข้าทำงานในธุรกิจของครอบครัว 7) ต้องการที่จะได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนในแนวคิดใหม่ของตนเองที่จะนำเข้ามาสู่ธุรกิจของครอบครัว
8) การสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ และการแสดงออกที่โปร่งใสจริงใจ จากผู้บริหารชุดเดิมและสมาชิกอื่นในครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของครอบครัว 9) มีกระบวนการเตรียมถ่ายทอดอำนาจการบริหารที่เป็นระบบ ตามประเพณีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมทางธุรกิจที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่การแต่งตั้งด้วยการเป็นสายเลือดของครอบครัว และ
10) การได้สัมผัสความท้าทายและมีความสุขในการทำงานและการดำรงชีวิตภายในครอบครัว
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจครอบครัวที่กำลังอยู่ในระหว่างการสานต่อธุรกิจไปยังรุ่นต่อไป และสมาชิกครอบครัวรุ่นเยาว์ที่ได้รับคาดหมายว่าจะเป็นทายาทเข้ามาสืบทอดกิจการขอบครอบครัวในอนาคต ทั่ง 2 รุ่นจะเข้าใจถึงจิตวิญญาณในการที่จะส่งมอบรับมอบอำนาจการบริหารธุรกิจเหล่านี้อย่างรอบคอบและละเอียดอ่อน
ดูบทความทั้งหมดของ เรวัต ตันตยานนท์