ผ่านมาแล้ว 6 เดือนเต็ม สำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ยังปิดการเดินทางระหว่างประเทศ แม้ไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้วก็ตาม
เมื่อหลาย ๆ ประเทศยังปิดประเทศ ความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยววันนี้ คือ “ไทยเที่ยวไทย” โดยกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านมาตรการของรัฐ รวมถึงแคมเปญส่งเสริมการขายต่าง ๆ อย่างหนักในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย หนังสือพิมพ์ “มติชน” ได้จัดสัมมนาหาทางออกในหัวข้อ “ปลุกไทยเที่ยวไทย ปลุกเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า” โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ
พร้อมจัดเสวนา “ไทยพร้อมแล้วกับการท่องเที่ยววิถีใหม่” มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงมาร่วมวงประกอบด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), นางฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)
ยันต้องทยอยเปิดแบบ “สเต็ปบายสเต็ป”
“พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ปัจจุบันไทยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี ทำให้ไทยสามารถเดินหน้าผ่อนคลายความเข้มงวดมาถึงระยะที่ 6 และมองว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญกับทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงได้มีการผ่อนคลายเป็นลำดับจนมาถึงการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ 4 กลุ่มในระยะเวลาอันใกล้ และเตรียมจะก้าวสู่สเต็ปต่อไปพร้อมการเฝ้าระวังและพิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสม
จึงอยากให้ใจเย็น ๆ กันสักนิดนึง
คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จบแค่ 7 ล้านคน
ด้าน “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ปี 2563 ที่เดิมคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน สุดท้ายน่าจะเหลือเพียง 7 ล้านคนแม้ปลายปีจะสามารถเปิดการเดินทางได้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ราว 4 แสนคน รวมกับตัวเลขในครึ่งปีแรก 6.69 ล้านคน หรือลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดต่างชาติเร่งเดินหน้าทำการตลาดเชิงภาพลักษณ์เกี่ยวกับสุขอนามัยและการควบคุมเชื้อ รวมถึงยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวผ่าน Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA
ทั้งนี้เดือนเมษายน-มิถุนายน มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเพิ่มขึ้นกว่า 14 ล้านคนครั้ง หรือมีจำนวนสะสมกว่า 54 ล้านคนครั้ง
เร่งปลุกตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ
“ฐาปนีย์” บอกด้วยว่า ททท.เร่งขออนุมัติมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ เพื่อดันรายได้ให้บรรลุเป้าหมาย 1.23 ล้านล้านบาท ทั้งนี้คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในปี 2563 ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 742,500 ล้านบาท ลดลงราว 75% และส่งผลให้ปี 2564 ที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศทำให้เปิดการท่องเที่ยวไม่ได้ รายได้จะลดเหลือ 675,700 ล้านบาท หรือลดลง 9% จากปีนี้ แต่หากปี 2564 ไทยเปิดการท่องเที่ยวได้ปกติรายได้จากรวมน่าจะขยับมาอยู่ที่ 3,936,629 ล้านบาทหรือเติบโต 430% จากปีที่ผ่านมา
เสนอใช้งบฯที่เหลือจัดแพ็กเกจ “เที่ยวไทยผ่านทัวร์”
ขณะที่ “สุรวัช อัครวรมาศ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ทุกหน่วยหันมากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศแต่ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องนอมินีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
“เราพูดกันเยอะว่า ปีนี้รายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยหายไปราว 2 ล้านล้านบาท ไม่อยากให้ตกใจเพราะว่าไม่รู้ว่าเงินจำนวนนี้อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการไทยเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่”
ที่สำคัญรัฐบาลควรหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ในภาคท่องเที่ยวให้อยู่รอดโดยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” ยังไม่ตอบโจทย์การกระจายรายได้ เพราะนักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวระยะใกล้ที่รู้จักและคุ้นเคยเท่านั้น
ดังนั้น จึงอยากเสนอให้พิจารณารูปแบบการเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ โดยใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มาสนับสนุนราคาแพ็กเกจทัวร์ในอัตรา 40% หากให้บริษัททัวร์บริหารจัดการจะทำให้เงินกระจายได้จริง ทั้งโรงแรม, บริษัททัวร์, รถนำเที่ยว, แหล่งท่องเที่ยว, ร้านอาหาร ฯลฯ ที่สำคัญทำให้คนไทยได้ท่องเที่ยวบนมาตรฐานใหม่ของแพ็กเกจทัวร์อีกด้วย
ลุ้นปลดล็อกจัดกีฬาแบบมีผู้ชมปลุกเศรษฐกิจ
ด้าน “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ในปี 2562 ไทยมีรายได้จากการแข่งขันมหกรรมกีฬานานาชาติ และมหกรรมกีฬาระดับประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท แต่โควิด-19 ทำให้ต้องยกเลิกมหกรรมกีฬาสำคัญหลายงาน อาทิ โมโตจีพีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,200 ล้านบาท ทำเชื่อว่าในปี 2563 มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการกีฬาจะลดลงเหลือเพียง 7,000 ล้านบาทเท่านั้น
และเพื่อรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ กกท.จึงวางแผนจะเร่งส่งเสริมการแข่งขันกีฬาและมหกรรมกีฬาภายในประเทศทันทีที่ ศบค.ปลดล็อกให้มีผู้เข้าชมได้
มั่นใจรายได้ท่องเที่ยวถึงเป้า 1.23 ล้านล้านบาท
“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปี 2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.9 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน และรายได้จากคนไทย 1.1 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 166 ล้านคนครั้ง
ปี 2563 เดิมตั้งเป้ารายได้รวมไว้ 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของ GDP แต่หลังจากโควิดแพร่ระบาด พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่รายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท
ผลกระทบที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้ทบทวนเป้าหมายรายได้เหลือเพียง 1.23 ล้านล้านบาท โดยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเหลือในระดับ 9-10 ล้านคน โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6.7 ล้านคน และมีการเดินทางของคนไทย 54 ล้านคนครั้ง
จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศภายใต้งบฯ 2.24 หมื่นล้านบาท ผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้คนไทยเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ถึง 120 ล้านคนครั้ง เพื่อทำรายได้รวมให้ได้ถึง 1.23 ล้านล้านบาทตามเป้าหมาย
- “พิพัฒน์” ขอนายกฯ จัดแพ็กเกจหนุน “เอ็กซ์แพท” 2 ล้านคนเที่ยวไทย