จากการที่มีกระแสข่าวกรณีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) ที่มีการบิดเบือนไปในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นภาระต่อภาษีประชาชน และเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการใดเป็นการเฉพาะโดยมิได้คำนึงถึงองค์รวม หรือผลประโยชน์แก่ประเทศ
ทอท.ขอชี้แจงหลักการ และสาระสำคัญของมาตรการเยียวยาของ ทอท. ดังนี้
(1) หลักการดำเนินนโยบายของ ทอท. คือ ทอท. และผู้ประกอบการทุกรายต้องผ่านวิกฤต Covid-19 นี้ไปด้วยกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะอันอาจเกิดจากการเลิกจ้างงานควบคู่ด้วยเป็นสำคัญ เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าปัญหาวิกฤต Covid-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและแผ่เป็นวงกว้าง ทั้งในด้านทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยนอกจาก ทอท. ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมพนักงานและลูกจ้างเกือบแสนชีวิต ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
ซึ่งสำหรับสัญญาเชิงพาณิชย์ของ ทอท. นั้น ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบอกเลิกสัญญาได้ตามเหตุผลที่สมควร โดยต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 45-90 วัน โดยแม้สัญญาจะเปิดโอกาสให้มีการบอกเลิกสัญญาได้ แต่ ทอท. ก็มิพึงประสงค์ให้มีการปิดกิจการ เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาสังคมที่เกิดจากการเลิกจ้างงานอีกด้วย ซึ่งการบรรเทาผลกระทบฯ นี้ อาจทำให้รายได้ของ ทอท. ลดลง แต่มิใช่รายจ่ายที่ ทอท. ต้องจ่ายออกไปหรือการนำภาษีจากประชาชนมาจ่ายให้ผู้ประกอบการแต่อย่างใด
(2) การช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ได้ดำเนินการเป็นการทั่วไป โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการฯ สามารถประคับประคองกิจการให้คงอยู่ต่อไปได้ตามความเหมาะสมของโครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) ของแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ
สำหรับการช่วยเหลือสายการบิน ทอท. ได้มีการเลื่อนการชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของสายการบิน
อีกทั้งยกเว้นการเก็บค่า Parking Charges สำหรับสายการบินที่หยุดทำการบิน และลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) 50% สำหรับสายการบินที่ยังคงทำการบิน ตั้งแต่เดือนเมษายน – ธันวาคม 2563
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ทอท. ได้ยกเว้นการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565 (โดยยังคงเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ) และเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง รวมถึงยกเว้นการเก็บค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการการใช้บริการในอาคาร สำหรับผู้ประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราว และลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร 50%
สำหรับผู้ประกอบการที่ยังคงประกอบกิจการ ตั้งแต่เดือน เมษายน – ธันวาคม 2563และเมื่อเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายหลังจากนั้นแล้ว ทอท.จะเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในอัตราเท่ากับช่วงก่อนวิกฤต (ในระดับเดียวกับปี 2562) และจะปรับขึ้นตามสัญญาเมื่อจำนวนผู้โดยสารเริ่มปรับตัวมากกว่าช่วงก่อนวิกฤต
ซึ่งมติบอร์ด ทอท. ที่ออกไปก่อนหน้า (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 22 เมษายน 2563) เป็นการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งผู้ประกอบการสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์เป็นการทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยังคงสามารถดำเนินกิจการอยู่ต่อไปได้ และไม่เกิดการเลิกจ้างงาน อันจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการบินและประเทศชาติโดยรวม และจะกลับมากระทบต่อมูลค่าหลักทรัพย์ของ ทอท. มากกว่าการปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ในระยะสั้นเป็นอย่างมาก
(3) กรณีสัมปทานของบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ (บริษัทฯ) นั้น ได้รับมาตรการช่วยเหลือดังเช่นผู้ประกอบการ เชิงพาณิชย์รายย่อยทั่วไปกว่า 1,000 สัญญา โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างตามสถานะของสัญญา 2 ประการ ด้วยเหตุผลดังนี้
(3.1) ขยายระยะเวลาเตรียมการเพิ่มอีก 1 ปี ให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) : เดิมสัญญาได้กำหนดไว้ให้บริษัทฯ มีระยะเวลาเตรียมการตกแต่งพื้นที่ 6 เดือน โดยในช่วงเตรียมการนี้ ทอท. จะเรียกเก็บอัตราค่าตอบแทนตามสัญญาโดยแปรผันตามจำนวนพื้นที่ที่เปิดให้บริการ และหลังจากนั้น จะเรียกเก็บค่าตอบแทนตามพื้นที่เต็มจำนวนตามสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี
แต่หากเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ทาง ทอท. ไม่สามารถเปิดดำเนินการในอาคาร SAT-1 ได้ตามเป้าหมายที่ปรากฏในสัญญา โดยคาดว่าจะเลื่อนการเปิดให้บริการจากเดิม 1 เมษายน 2564 เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 บอร์ด ทอท. จึงจำเป็นต้องมีมติให้มีการขยายระยะเวลาเตรียมการจากเดิม 6 เดือน ออกไปอีก 1 ปี เป็น 1 ปี 6 เดือน อันเป็นผลให้มีการปรับอายุสัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งานอาคาร SAT-1
(3.2) ปรับจำนวนผู้โดยสารในการคำนวณค่าตอบแทนขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง : เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีมาตรการจำกัดการเปิดน่านฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การเดินทางทางอากาศมีปริมาณน้อยลง ทอท. จึงเห็นชอบที่จะใช้จำนวนผู้โดยสารจริงในการคำนวณอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำ
โดยยังคงอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำ และอัตราส่วนแบ่งรายได้เดิมตามสัญญาไว้ทุกประการ โดยค่าตอบแทนขั้นต่ำนี้จะถูกปรับถูกปรับขึ้นทันทีในปีถัดไปตามอัตราการขยายตัวของผู้โดยสารและเงินเฟ้อ โดยไม่ต้องรอให้ผู้โดยสารกลับมาในระดับก่อนวิกฤตดังเช่นผู้ประกอบการรายอื่นแต่อย่างใด
อนึ่ง มาตรการนี้ได้ถูกออกแบบโดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในส่วนของผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น (1) เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการงดเว้นการเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำในวันที่31 มีนาคม 2565 แล้ว หากบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำตามสัญญาเดิมในปี 2562 ดังเช่นมาตรการที่ผู้ประกอบการรายอื่นได้รับ ก็จะทำให้ ทอท.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าทางเลือกที่ให้ปรับจำนวนผู้โดยสารให้เป็นไปตามจริงนี้อยู่ราวร้อยละ 50
อนึ่ง หากจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ ทอท. ได้รับค่าตอบแทนกลับสู่ภาวะเดิมหรือมากกว่าโดยอัตโนมัติ (2) มาตรการปิดน่านฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ของรัฐบาล อันส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงกว่าร้อยละ 99 นั้น เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้สิทธิขอยกเลิกสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ
ซึ่ง ทอท. คาดว่าหากมีการเปิดประมูลใหม่ในภาวะการณ์เช่นนี้ นอกจาก ทอท. จะต้องยอมรับแล้วว่าผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยยะตามตัวเลขที่ปรากฏอยู่จริง ทอท. ยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดเสนอผลตอบแทนต่อหัวอยู่ในอัตราที่สูงดังผลการประมูลครั้งก่อน อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลตอบแทนที่ ทอท. คาดว่าจะได้รับอย่างมหาศาล ในส่วนของผลประโยชน์ของประเทศ
(1) หากไม่มีการปิดน่านฟ้าเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดฯ อันเป็นผลให้จำนวนผู้โดยสารฯ ลดลงแล้ว จะเกิดความเสียหายกับประเทศโดยรวมอย่างตีมูลค่ามิได้ (2) หาก ทอท. ปล่อยให้มีการยกเลิกสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาของผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จะกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก
ทั้งนี้ ทอท. ขอยืนยันว่า บทความ วิเคราะห์-วิจารณ์ ที่มีเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันหลายบทความ ได้ทำการวิเคราะห์ -วิจารณ์อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นการวิเคราะห์-วิจารณ์ในด้านการสูญเสียรายได้ของ ทอท. ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่แต่เพียงด้านเดียว โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงมาตรการฯ ที่ทาง ทอท. ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วยอย่างเท่าเทียมกัน และยังไม่ได้คำนึงถึงโอกาส ทางเลือกที่ผู้ประกอบการสามารถบอกเลิกสัญญา หรือผลกระทบต่อรายได้ ทอท. จากการถูกบอกเลิกสัญญา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
โดยเฉพาะสภาวการณ์จ้างงานดังที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งในการนี้ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกบทวิเคราะห์ดังกล่าวได้เข้าพบ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อรับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าใจเหตุผลในทุกๆ ด้าน โดยทางผู้ออกบทวิเคราะห์ฯ ได้ตกลงจะออกบทวิเคราะห์ที่เป็นกลางและครอบคลุมถึงข้อมูลมิติต่างๆ ที่ได้รับเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สาธารณชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อไป