เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานนาม “ชลากาศยาน” โครงการวิจัยเครื่องบินทะเล กองทัพเรือ เตรียมเข้าสู่สายการผลิตใช้งานจริง
เมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามเรียกขานเครื่องบินทะเล “ชลากาศยาน” ต่อทีมวิจัยและพัฒนาโครงการวิจัยจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลแบบ 2 ที่นั่ง สู่การได้รับรองมาตรฐานใบสมควรเดินอากาศ กองทัพเรือ ที่มี พล.ร.ท.สมหมาย ปราการสมุทร หัวหน้าโครงการเครื่องบินทะเล พล.ร.ท.กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ และนาวาโท ดร.บพิธ ทศเทพพิทักษ์ เป็นนักวิจัยผู้ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กพน.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ได้เห็นความพยายามตั้งใจจริงในโครงการวิจัยเครื่องบินทะเล กองทัพเรือ ที่มีการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินทะเลในการสำรวจ ลาดตระเวน ค้นหา รักษาความปลอดภัย การกู้ชีพ และการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ครบทุกมิติองค์ประกอบด้านภารกิจความมั่นคง
โดยเฉพาะภารกิจของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการบูรณาการผลงานวิจัย ผลักดันโครงการเครื่องบินทะเล กองทัพเรือ สู่การใช้งานจริง และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
พล.ร.ท.กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนายทหารโครงการวิจัยจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลกองทัพเรือ ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดของ พล.ร.ท.สมหมาย ปราการสมุทร ที่ต้องการผลิตเครื่องบินทะเลที่สามารถขึ้นลงได้ทั้งบนบกและในน้ำ และสามารถปฏิบัติอยู่ในอากาศได้นานไม่น้อยกว่า 2.5 ชั่วโมง
โดยมีขีดความสามารถในการบินไกลสุดไม่น้อยกว่า 200 ไมล์ทะเล รัศมีปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 100 ไมล์ทะเล และมีเพดานบินไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุต
ที่สำคัญยังสามารถขึ้นบินได้ทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยการติดระบบการสื่อสาร เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ และอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ เพื่อไว้ใช้เองในกองทัพเรือ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ผลงานนวัตกรรม กลุ่มวิศวกรรมยานรบและอากาศยาน เมื่อปี พ.ศ.2559
โดยได้การทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง กองทัพเรือ และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ที่มี พล.ร.ต.เอก สารสาส กรรมการผู้จัดการ นาวาเอกปริศฎางค์ เทศขุตทด รองคณะกรรมการผู้จัดการ เกิดขึ้นภายใต้ความต้องการที่จะบูรณาการสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ในสาขาวัสดุศาสตร์ วิศวกรรม และการผลิต รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยให้สู่จุดหมายใช้งานได้จริง
จึงร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลวิจัยให้เกิดความก้าวหน้า และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา การออกแบบ การดำเนินการทอดสอบ รวมถึงการประเมินประสิทธิภาพของผลงานที่ได้ดำเนินการวิจัย พัฒนาเพื่อส่งมอบให้กองทัพเรือ นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต