วันที่ 6 สิงหาคม 2563 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า โครงการ Train the Coach ของ สสว. ซึ่งได้เข้าสู่ระยะปีที่ 3 โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยร่วมดำเนินการนั้น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการรวบรวม คัดสรรโค้ชมืออาชีพจากทั่วประเทศ เสริมองค์ความรู้และทักษะ ให้มีขีดความสามารถที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองแนวทางการพัฒนา SME 4.0 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงโค้ชแต่ละรายได้ บนระบบออนไลน์ และเลือกคุณสมบัติของโค้ชที่มีความชำนาญตามที่ตนเองต้องการได้
ผอ.สสว. เผยว่า ปัจจุบันมีโค้ชที่เข้าสู่โครงการนี้กว่า 3,502 ราย ประกอบด้วย 1. โค้ชสายกลยุทธ์ธุรกิจ จำนวน 2,676 ราย และ 2. โค้ชสายเทคโนโลยี จำนวน 826 ราย กระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ และมีสาขาความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ในการที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือวางกลยุทธ์ธุรกิจ
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ในปีนี้ สสว. จะเร่งตอบสนองความต้องการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโค้ชมืออาชีพต่างๆ ได้ โดยแบ่งเป็นระบบจะมีตัวกรอง ดังนี้ 1. ระดับคุณภาพที่วัดจากจำนวนดาวที่ได้รับจากผู้ประกอบการ 2. การคัดเลือกประเภทความเชี่ยวชาญของโค้ช 3. กระบวนการสื่อสารส่งผ่านชุดคำถาม-คำตอบ โดยผู้ประกอบการสามารถส่งภาพถ่ายสินค้า หรือแจ้งสภาพปัญหาของเครื่องจักร หรือจะส่งภาพขั้นตอนการทำงานให้แก่โค้ชโดยตรงได้ เพื่อปรึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ก่อน และ 4. ระบบอาจจะนำส่งต่อปัญหานี้ไปยังหน่วยงานเฉพาะด้าน ที่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่ง สสว. ก็มีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรอื่น ๆ ที่ร่วมกับทาง สสว. อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
ผอ. สสว. กล่าวว่า บริการใหม่ที่จะแนะนำในปีนี้ เรียกว่า #เอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ #SMEcoachingonline โดยจะมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอี ครบวงจร (OSS) ของ สสว. ที่กระจายให้บริการอยู่ในทุกจังหวัด พร้อมจะสนับสนุนระบบงานนี้บนออฟไลน์ควบคู่กันไป และในปีนี้ทาง เอสเอ็มอีโค้ช จะทำการโค้ชชิ่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 จังหวัดหนองคาย วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 6 สิงหาคม 2563 และจังหวัดเชียงราย วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีโค้ชเข้าร่วม 30 คน และมีผู้ประกอบการ 30 ราย ในกลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูป อาทิเช่น อาหาร เครื่องสำอาง ซึ่ง สสว. คาดหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์ และโค้ชเองก็จะได้ภารกิจในการเข้าไปปรับเปลี่ยน Transformation ให้แก่ ธุรกิจ
“สสว. เชื่อว่า SME ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับโมเดลธุรกิจที่ทันกับยุค วิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมาก และหาแนวทางฟื้นฟูและรักษาการเติบโตต่อไปในระยะยาว แนวทางการปรับตัวด้วยดิจิทัลดิสรัปชั่น จะเป็นอีกหนึ่งทางรอดและปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ SME ไทย เปลี่ยนโฉมแนวทางธุรกิจของตนเอง” นายวีระพงศ์ กล่าวในที่สุด