ฟู้ดดิลิเวอรี่ครึ่งปีแรกพุ่งกระฉูด150% คาดทั้งปีมีจัดส่งอาหาร 66-68 ล้านครั้ง ชี้ครึ่งหลังแข่งเดือด ผู้เล่นหน้าใหม่เพียบ
พฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลา 12.39 น.
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจส่งอาหาร (ฟู้ดดิลิเวอรี่) เป็นอีกหนึ่งช่องทางธุรกิจที่สำคัญหลังจากโควิด-19 แพร่ระบาดในไทย จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก ขนาดกลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปบ้านสูง 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ฟู้ดดิลิเวอรี่ต้องเจอกับการแข่งขันผู้เล่นหน้าใหม่และร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้ จะทำให้การสั่งอาหารดิลิเวอรี่ลดน้อยลงกว่าครึ่งปีแรก
นอกจากนี้ แนวโน้มของร้านอาหารที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะรายใหญ่ได้มีการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจและการลงทุน เช่น การลดจำนวนการขยายร้านอาหารประเภทการให้บริการเต็มรูปแบบ โดยหันมาเปิดร้านขนาดเล็ก การปรับขั้นตอนปฏิบัติและรูปแบบร้านให้รองรับการสั่งอาหารไปยังที่พัก เป็นต้น อีกทั้งการเข้ามาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายใหม่ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้ให้บริการในการกระตุ้นตลาด ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารน่าจะเติบโต 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดทั้งปี 63 จะมีจำนวนจัดส่งอาหาร 66- 68 ล้านครั้งหรือขยายตัวสูงถึง 78.0-84.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ ความต่อเนื่องของการเติบโตของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 ยุติลง หากมองไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนครั้งการสั่งอาหารมายังที่พักจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับปี 63 แต่ยังขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4-7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวผ่านการเพิ่มจำนวนครั้งการใช้งานของผู้บริโภครายเก่า รวมถึงการจัดโปรโมชั่นลดราคาของผู้ประกอบการในบางช่วงเวลา ประกอบกับการเข้ามาทำตลาดของคลาวด์ คิทเช่น ที่น่าจะช่วยลดข้อจำกัดของการสั่งอาหารข้ามพื้นที่ให้บริการ
ขณะเดียวกันด้วยจำนวนผู้เล่นรายใหม่จากทั้งนอกและในอุตสาหกรรมที่เข้ามามากขึ้น ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจยังไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นบางรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจำเป็นต้องออกจากการแข่งขันไปหรือถูกควบรวมกิจการ รวมทั้งกฎระเบียบของทางการที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าจัดส่งอาหาร ใน พ.ร.บ.สินค้าและบริการควบคุม พ.ศ. 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารบางรายได้อีกด้วย
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%