สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ว่า นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาท “กระทิงแดง” หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 โดยได้รับหนังสือคำสั่งเด็ดขาดว่า ไม่ฟ้องคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2563
เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งเดือน สื่อไทยจึงได้เสนอข่าวนี้ เพราะไม่ทราบเรื่องเลย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐอเมริกากลับเป็นผู้นำเสนอข่าวก่อนเป็นรายแรก สื่อไทยจึงได้เสนอข่าวตามมาภายหลัง ในโลกโซเชียลถึงกับกล่าวกันว่า กระบวนการยุติธรรมไม่เที่ยงตรง คุกมีไว้สำหรับคนจน
คดีนี้ส่อว่ามีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมนายบอส นายตำรวจคนหนึ่งที่ความใกล้ชิดกับบ้านอยู่วิทยา ได้นำพ่อบ้านของตระกูลกระทิงแดงมาสมอ้างว่า เป็นคนขับรถคันเกิดเหตุ สร้างความไม่พอใจให้พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชากาตำรวจนครบาลในขณะนั้น ที่มาดูที่เกิดเหตุด้วยตนเอง และให้ตำรวจล้อมบ้านไว้ ในที่สุดนายบอสต้องยอมออกมามอบตัว
จนถึงขณะนี้ไม่มีใครทราบว่า นายตำรวจที่พยายามนำพ่อบ้านมารับโทษแทน ได้ถูกดำเนินการทางวินัย และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
คดีนายบอส พยานหลักฐานยังอยู่ในที่เกิดเหตุนายบอสให้การรับสารภาพ แม้จะใช้ช่องทางร้องขอความเป็นธรรมหรือประวิงคดี หากเร่งรัดดำเนินการให้คดีเข้าสู่ศาลคดีคงถึงที่สุดไปนานแล้ว
สังคมต้องการความชัดเจน กรณีตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายบอส แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาอ้างว่าได้รับการยืนยันจากทันตแพทย์ว่า สารที่ตรวจพบในร่างกายนายบอส เป็นยาที่ให้ในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนจึงไม่สั่งฟ้องเรื่องสารเสพติด แต่หากย้อนดูหนังสือแจ้งผลการตรวจสารแปลกปลอม ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2555 ปรากฏว่า พบสาร Benzoylecgonine ซึ่งเป็นผลมาจากการเสพโคเคน (สารนี้จะไม่พบในอาหารและยาอื่น) และพบสาร Cocaethyene ซึ่งเป็นผลมาจากการเสพโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์ โลกโซเชียลจึงลุกเป็นไฟ ต่อมาทันตแพทยสภาได้แถลงว่า ไม่ได้ใช้โคเคนในการรักษาฟันมา 150 ปีแล้ว
ในเรื่องความเร็วรถยนต์ Ferrari FF ของนายบอส เมื่อปลายปี พ.ศ.2562 มีผู้เชี่ยวชาญได้ทำรายงานการตรวจสอบต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การยุติธรรมและตำรวจ ว่า ในวันเกิดเหตุรถวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยใช้หลักการตรวจสอบทางวิศวกรรมศาสตร์ว่าด้วยการประเมินและความปลอดภัยทางถนน และหลักการการย้อนรอยอุบัติเหตุรายงานนี้ เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งให้อัยการมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ฟ้องนายบอส ซึ่งต่อมาพบว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ ใบอนุญาตสมาชิกสภาวิศวกร หมดอายุเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2559 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจงวิธีคำนวณความเร็วรถ โดยวัดระยะทางจากสถานที่จริง หารด้วยเวลาที่คิดจากเฟรมภาพวงจรปิด ยืนยันความเร็วที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บวกลบ17 สอดคล้องกองพิสูจน์หลักฐานที่ตอนนั้นคำนวณได้174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งได้ย้ำว่า สูตรคำนวณความเร็วมีสูตรเดียว จนกลายเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์ ซึ่งปรากฏในสำนวนของ อัยการที่สั่งฟ้องโดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ในครั้งแรก แต่ไม่ปรากฏในสำนวนของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องโดยรองอัยการสูงสุดในครั้งที่สอง นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 น.ส.รสนา โตสิตระกูล และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอเอกสารรายงานบันทึกการประชุม ผลการศึกษา และหนังสือนำส่งอัยการของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมในคดีของนายบอส เนื่องจากมีความสับสนจากการให้ข่าวของพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร อดีตกรรมาธิการกฎหมายสนช.ที่ระบุว่า กมธ.ไม่ได้รับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากนายบอส แต่นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมายฯ สนช. กลับบอกว่ามีการรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมและมีการตรวจสอบโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบความเร็วของรถ ส่งผลให้รูปคดีเปลี่ยนจากมีผู้ต้องหา 1 คน เป็นมีผู้ต้องหา 2 คน ซึ่งทำให้ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ กลายเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ถูกตั้งข้อหาว่าขับรถโดยประมาทด้วยการเปลี่ยนเลนเข้ามาจนทำให้เสียชีวิต ซึ่งการพลิกคดีเช่นนี้เป็นเหตุให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง
แรงกดดันจากสังคมได้โหมกระหน่ำ จนต้องมีการตั้งคณะทำงานหลายชุด แต่อย่างน้อย 3 ชุด ได้รับการจับตามองคือ
(1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มี ศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ เป็นประธาน
(2) อัยการสูงสุด แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี
(3) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563 คณะทำงานอัยการได้พิจารณาสำนวนมีความเห็นว่า ผลการตรวจเลือดของนายวรยุทธ ที่พบสารโคเคนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงให้เสนออัยการสูงสุดดำเนินคดีนี้เพราะยังไม่ขาดอายุความ สำหรับเรื่องความเร็วรถ คดียังไม่ถึงที่สุดเหลืออายุความ 7 ปี ได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้ส่งรายงานให้นายตำรวจท่านหนึ่ง แต่ในสำนวนกลับไม่มีรายงานหลักฐานชิ้นนี้ ที่ระบุความเร็วรถ 170 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงแจ้งพนักงานสอบสวนเริ่มสอบสวนคดีนี้ใหม่ เพื่อดำเนินคดีนายบอส
ล่าสุดนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) (ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่พิจารณาความดีความชอบของอัยการ ตลอดจนพิจารณาลงโทษอัยการ) และอดีตอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า คำสั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส โดยรองอัยการสูงสุดเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะคำสั่งให้ฟ้องคดีนายบอส โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ยังมีผลอยู่ การที่อดีตอัยการสูงสุดได้สั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมของนายบอสแล้ว นายบอสยังมาร้องขอความเป็นธรรมอีก และรองอัยการสูงสุดหยิบยกเรื่องขึ้นมาโดยไม่ได้รับคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ
ความเห็นดังกล่าวนี้ สร้างความหาวเรอให้แก่คณะอัยการที่เพิ่งแถลงข่าว และยังสร้างความมึนงงให้แก่ประชาชนทั่วไป
แม้ประชาชนทั่วไปจะไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของท่านประธานคณะกรรมการอัยการ แต่หากเป็นการชมการแข่งขันกีฬาต้องนับว่า ชนะใจและถูกใจผู้ชมเป็นอย่างมาก
งานนี้ ประชาชนทั่วไป มีคำถามในใจ แต่ไม่รู้ว่าจะถามใครว่า
คนจน มีสิทธิไหม ครับ ?