เผยแพร่:
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศ. พญ.พนิดา โกสียรักษ์วงศ์
ภาควิชาจักษุวิทยา
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การใส่คอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส เป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ไขสายตาผิดปกติที่นิยมกัน เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องความสวยงาม เสริมบุคลิกภาพให้ความมั่นใจแก่ผู้ใส่แล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเล่นกีฬา หรือประกอบกิจกรรมบางอย่าง แต่ทราบหรือไม่ว่าการใส่คอนแทคเลนส์นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียดวงตาได้
คอนแทคเลนส์ มีลักษณะเป็นพลาสติกใส บางโค้ง กลม มีขนาดเล็ก ใช้แตะติดกับกระจกตาดำ เพื่อใช้ในการแก้ไขสายตาผิดปกติต่าง ๆ เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง สามารถใช้เปลี่ยนสีของตาเพื่อความสวยงาม รวมทั้งยังใช้ในการรักษาโรคบางโรคของกระจกตาได้
ชนิดของคอนแทคเลนส์
คอนแทคเลนส์ มีหลายชนิด ถ้าแบ่งตามคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิต อาจแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแรกที่ใช้กัน ผลิตจากพลาสติกชนิดแข็ง จึงทำให้รู้สึกไม่สบายตาเมื่อสวมใส่ ปัจจุบันนิยมใช้น้อยลง แต่มีข้อดี คือ ทนทาน มีอายุการใช้งานนาน ดูแลรักษาง่าย ไม่โค้งตามรูปทรงของกระจกตา จึงสามารถแก้ไขสายตาเอียงได้บ้างบางส่วน
2. คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันมากที่สุด ผลิตจากพลาสติกซึ่งมีคุณสมบัติอมน้ำได้ ทำให้นิ่ม ยืดหยุ่นได้และออกซิเจนผ่านเข้าตาได้ดี ผู้สวมใส่จะรู้สึกสบายตา แต่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าเลนส์ชนิดแข็ง ต้องการการรักษาความสะอาดที่มากกว่า มีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อและการแพ้ได้มากกว่า
เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มมีหลายชนิดให้เลือก ได้แก่
– ชนิดที่ถอดล้างทุกวัน เป็นชนิดที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป
– ชนิดที่ใส่ค้างคืนได้หลาย ๆ วัน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการถอดล้างทุกวัน เช่น เด็กเล็ก
หรือผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยผู้อื่นถอดใส่เลนส์ให้ (ชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด)
– ชนิดรายวัน ราย 2 สัปดาห์ หรือรายเดือน ซึ่งต้องเปลี่ยนเมื่อครบอายุการใช้งาน
– ชนิดที่แก้ไขสายตาเอียง
– ชนิดที่ใช้เปลี่ยนสีตาได้ เพื่อความสวยงาม มีหลายสี เช่น ฟ้า เขียว ม่วง เทา น้ำตาล
3. คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ชนิดแข็ง แต่สามารถให้ออกซิเจนผ่านเข้ากระจกตาได้ดีกว่า สวมใส่สบายตากว่าชนิดแข็ง เป็นการรวมข้อดีของเลนส์ชนิดแข็งและชนิดนิ่มมาไว้ด้วยกัน
ดวงตาใดเหมาะกับคอนแทคเลนส์
ผู้ที่จะใช้คอนแทคเลนส์ ควรจะไม่มีโรคทางตา หรือโรคทางกายที่มีผลต่อการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น โรคตาอักเสบ ภาวะภูมิแพ้ที่รุนแรง สามารถรับผิดชอบดูแลทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ได้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด โดยจักษุแพทย์จะวัดสายตาและวัดความโค้งของกระจกตา และพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับการใช้คอนแทคเลนส์หรือไม่ เลือกชนิดและขนาดของคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสม โดยจะให้ทดลองใส่ ตรวจดูเลนส์เมื่อใส่เข้ากับตา จากนั้นจะสอนการถอด-ใส่ ทำความสะอาดและวิธีดูแลรักษาที่ถูกต้อง
ผลแทรกซ้อนจากการใส่คอนแทคเลนส์
ผลแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุด คือ การติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งมักจะเกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ นอกจากนั้นอาจพบทำให้เกิดกระจกตาขาดออกซิเจน จากการใส่เป็นระยะเวลานานเกินไปหรือใส่นอน หลอดเลือดเข้ากระจกตา จากการที่กระจกตาขาดออกซิเจนหรือการเกิดปฏิกิริยากับสารเคมีที่อยู่ในน้ำยาที่ใช้ล้างหรือแช่คอนแทคเลนส์ เยื่อตาอักเสบ จากสารเคมีที่อยู่ในน้ำยาล้างเลนส์ชนิดต่าง ๆ
ดังนั้น ก่อนการสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งควรล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง เมื่อถอดคอนแทคเลนส์จากตาต้องถูทั้งผิวด้านนอกและผิวด้านในของเลนส์ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดสำหรับคอนแทคเลนส์ ก่อนแช่ในน้ำยาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
เมื่อจะนำคอนแทคเลนส์มาใส่ตา ควรล้างน้ำยาที่อาจตกค้างอยู่ในเนื้อเลนส์ด้วยน้ำเกลือสะอาดปราศจากเชื้อ เทน้ำยาในตลับทิ้ง ล้างตลับให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง น้ำยาถ้าใช้ไม่หมดควรเปลี่ยนทุก 1 เดือน เปลี่ยนตลับทุก 3-6 เดือน
การดูแลรักษาความสะอาดเลนส์ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ใส่เลนส์จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ข้อควรระวังสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์
การใช้คอนแทคเลนส์ควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ ไม่ควรหาซื้อใส่เอง เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้ว หากมีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบมาปรึกษาจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อดวงตาคู่สวยจะอยู่คู่ท่านไปอีกนาน
……………………………………………….
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
ศูนย์รับเลี้ยงและพัฒนาเด็กศิริราช รับสมัครบุคลากรตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็ก (วุฒิ ปวช. – ปวส.) และผู้ช่วย พี่เลี้ยงเด็ก (วุฒิ ม.6) จำนวน 2 อัตรา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 5722, 0 2419 7626