วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต้องดิ้นรนปรับตัวฝ่าความท้าทาย เพื่อให้อยู่รอดและสามารถกลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่ง นับเป็นอีกหนึ่งพายุลูกใหญ่ที่ท้าทายองค์กรขนาดใหญ่อย่างเอสซีจี แต่ผู้นำองค์กร “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้นำทัพพนักงานกว่า 50,000 คน ก้าวข้ามวิกฤตด้วยการปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ จนทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 ของเอสซีจีมีผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก
โดยในช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แม้เอสซีจีจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน แต่บริษัทได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมแผนการรองรับได้ทันท่วงที สำหรับประเทศไทย โอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วไม่ง่ายนัก หลายภาคส่วนผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว แต่สถานการณ์นี้ยังไม่จบ จึงถึงจุดที่ต้องมาวางแผน แต่แผนนั้นจะได้ทำจริงหรือต้องปรับเปลี่ยน ก็ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะที่หลายคนกังวลว่าจะมีการระบาดซ้ำรอบที่ 2 หรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะมีผลกระทบรุนแรงและยาวนานมากขึ้น หลายประเทศจึงกลับมาดูเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศก้าวต่อไปได้
ทั้งนี้การจัดวางสมดุลระหว่างความเป็นอยู่ของคนกับภาคธุรกิจคือวิธีคิดการบริหารธุรกิจภายใต้แรงกดดันในภาวะวิกฤตของแม่ทัพใหญ่ โดยมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Management-BCM) รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พร้อมกับแสวงหาโอกาสจากความต้องการใหม่ๆในตลาด หลังจากที่ผู้บริโภคเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการสั่งอาหารและซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ รวมถึงความใส่ใจดูแลสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น
“วิกฤต 3 เดือนที่ผ่านมากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคน รวมทั้งภาคเศรษฐกิจทั้งโลกแทบหยุดชะงัก เอสซีจีได้เตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Prepare for the Worst) เช่น การเตรียมการขายและการขนส่งล่วงหน้า หากมีการปิดเมือง และวางแผนหาโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้ทุกเมื่อ (Plan for The Best) เช่น การปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้ ซึ่งในส่วนนี้ เอสซีจีได้ปรับและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆมาแล้วอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชันที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทันท่วงที และทำให้เราตระหนักว่า ความพยายามในการทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันของเอสซีจีมาถูกทาง และยิ่งต้องทำต่อให้เร็วและเข้มข้นมากขึ้น”
โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ถือเป็นธุรกิจที่มีโดดเด่นและมีโอกาส เอสซีจีจึงสร้างโอกาสเติบโตด้วยการขยายธุรกิจด้วยและการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) ร่วมกับ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย และ Visy Packaging (Thailand) Limited รวมถึงการวางแผนการลงทุนขนาดใหญ่ใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company หรือ SOVI ในเวียดนาม ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่งรองรับการเติบโตครอบคลุมทั้งภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่อีกหลายธุรกิจต้องดำเนินงานด้วยความท้าทายท่ามกลางสภาวะตลาดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจเคมิคอลส์ ได้พลิก “วิกฤตเป็นโอกาส” ด้วยการดูแลความปลอดภัยให้แก่ทั้งพนักงานและลูกค้า ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและความสะอาดของวัตถุดิบและสินค้า ขณะเดียวกัน ก็บริหารจัดการสินค้าให้มีความยืดหยุ่น จึงทำให้สามารถเดินหน้าการผลิตได้อย่างเต็มที่ และตอบสนองกับความต้องการของตลาดที่ต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์สำหรับการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนทั่วโลกได้อย่างทันต่อสถานการณ์ ในขณะที่ความต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง
สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่แม้ต้องเผชิญกับภาวะที่อสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว แต่เอสซีจีได้ปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้า บริการและโซลูชัน ด้วยการเชื่อมต่อช่องทางออนไลน์ SCGHOME.COM กับเครือข่ายร้านค้าของ SCG HOME ทั่วประเทศในรูปแบบ Active Omni-channel เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ให้สามารถสอบถาม ขอรับคำปรึกษา และเลือกซื้อสินค้าได้ทุกช่องทาง รวมทั้งนำเสนอแพลทฟอร์มเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าเจ้าของบ้าน ทำให้การสร้างบ้านไม่สะดุดแม้ในช่วงโควิด-19 อีกทั้งเอสซีจียังได้เข้าไปเชื่อมต่อการบริการโซลูชันงานโครงสร้างให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายย่อย (SMEs) ภายใต้บริการ “CPAC Smart Structure” ช่วยลูกค้าลดต้นทุนการก่อสร้าง ทั้งยังเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“สิ่งสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์ว่า ธุรกิจของเรามาถึงจุดไหน ผลกระทบที่เกิดกับเราต่างจากคนอื่นอย่างไร คู่แข่งเป็นอย่างไร ผลกระทบกับอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ซึ่งการตอบสนองของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน หากเปรียบวิกฤตก็เหมือนกับพายุ เมื่อเจอพายุ เราต่างอยู่บนเรือคนละลำ อยู่กันคนละกลุ่มอุตสาหกรรมจะเอาแนวปฏิบัติหนึ่งไปแก้ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งไม่ได้ จึงต้องหาโซลูชันของตัวเอง ต้องมีการวางแผนเรื่องเวลาและการลงมือปฏิบัติให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์”
อีกบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำพาองค์กรปรับตัวฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ได้คือ การที่เอสซีจีได้เร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด-19 จำนวน 31 นวัตกรรม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี โดยได้เชื่อมโยง 125 เครือข่าย ให้เป็นผู้สนับสนุนและกระจายความช่วยเหลือไปยัง 847 โรงพยาบาลและหน่วยงานทั่วประเทศ ได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการของสังคมในช่วงที่สถานการณ์กำลังวิกฤต
นายรุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน น้ำ ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ส่งผลกระทบทั้งภาคประชาชน สังคม รวมถึงภาคธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยประสบทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายคือ การลงทุนบริหารจัดการเรื่องน้ำตั้งแต่ต้นทาง โดยขอเร่งให้ภาครัฐมีมาตรการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างจริงจังใน 3 มิติ ทั้งการเก็บน้ำ การจัดหาและกระจายการใช้น้ำอย่างทั่วถึง ตลอดจนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาและรองรับกับปัญหาในอนาคต
โดยกุญแจสำคัญของการเอาชนะวิกฤตขององค์กรกว่าร้อยปีแห่งนี้ ที่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับพายุอันเลวร้ายเพียงใด คือ ความพร้อมปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งวางแผนบริหารจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจ เพื่อให้สามารถฝ่าฟันความท้าทายให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อรักษาเสถียรภาพของธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสในการต่อยอดสู่ธุรกิจ ควบคู่กับการมีบทบาทในการดูแลและช่วยเหลือสังคม เพื่อให้สังคมและองค์กรสามารถอยู่รอดและเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน